สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โครงการสังฆะประชาปันสุข คณะสงฆ์อรัญประเทศ ได้ช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ด้วยการจัดการเรื่องฌาปนกิจศพของผู้เสียชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต

เฉพาะในอ.อรัญประเทศ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 50 ราย บรรยากาศความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียของครอบครัว ไม่มีโอกาสแม้จะได้ร่ำลาพูดคุยกับผู้เสียชีวิตเลย ขณะที่นอนป่วยรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ เมื่อเสียชีวิตก็ไม่สามารถจัดพิธีบำเพ็ญกุศลแบบสถานการณ์ปกติ

อาตมาเห็นความรู้สึก ความเจ็บปวด ความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิต ก็ได้แต่ให้กำลังใจและแนะนำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้เจริญปัญญา เจริญมรณานุสติ หลักหนึ่งที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความตายที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญ คือ ทรงสอนให้สาวกได้เจริญมรณานุสติ ให้ระลึกถึงความตายอยู่เป็นนิตย์ว่า ความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เป็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องประสบพบเจอ ในปัจฉิมพุทธโอวาทพระองค์ก็ตรัสสอนว่า

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

บทสนทนาระหว่าง พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ ในเรื่องการพิจารณาถึงความตาย ยิ่งเด่นชัดว่า เราไม่ควรเกลียดกลัวความตายที่กำลังจะมาถึง แต่เราควรเตรียมความพร้อมเมื่อความตายใกล้มาถึง เราจะจัดการกับความตายนั้นอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธอรำลึกและพิจารณาถึงความตายมากเท่าใด” “ข้าพเจ้ารำลึกถึงความตายวันละเจ็ดหนพระเจ้าค่ะ” พระอานนท์กราบทูลพระพุทธองค์ “ไม่พอหรอกอานนท์” พระพุทธองค์ทรงตอบกลับ “แล้วควรพิจารณาเท่าใดถึงจะพอพระเจ้าคะ” พระอานนท์กราบทูลถาม “เธอควรพิจารณาถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” พระพุทธองค์ทรงวิสัชนา

พระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับการพิจารณาระลึกถึงความตายทุกลมหายใจนั้น ด้วยเหตุเมื่อความตายคืบคลานมาใกล้เรา เราจะไม่กระวนกระวาย หงุดหงิดกังวลใจ แต่เราจะพร้อมรักษาใจให้ผ่องใส เตรียมเข้าสู่ความตายอย่างสงบ คำว่า “ตายดี” หรือ “ตายไม่ดี” อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เรารักษาจิตดวงสุดท้ายก่อนตายให้ผ่องใสอยู่ใน “กุศล” หรือ “อกุศล” บางคนเข้าใจผิดไปนึกถึงกายภาพของการตาย เช่น คนนั้นตายแบบสบาย คนนั้นตายแบบลำบาก เกิดอุบัติเหตุ แต่ในหลักการทางพระพุทธศาสนาแล้ว คือ “การรรักษาจิตดวงสุดท้ายให้ผ่องใส ระลึกถึงพระรัตนตรัย”

ดังตัวอย่างของ “มัฏฐกุณฑลี” เด็กหนุ่มชาวเมืองสาวัตถี ที่พ่อแม่ของเขาเป็นพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง แต่มีความตระหนี่ถี่เหนียวมาก แม้ “มัฏฐกุณฑลี” จะมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยตั้งแต่เด็ก แต่เขามิเคยได้ทำบุญใส่บาตรเลยแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยความไม่เลื่อมใสต่อพระรัตนตรัยของพ่อแม่ เมื่อตอนอายุ 16 ปี เขาป่วยด้วยโรคร้าย รุ่งเช้าในวันที่จะสิ้นชีวิต พระพุทธเจ้าทรงบาตร เดินผ่านมาที่หน้าบ้าน “มัฏฐกุณฑลี” เห็นพระพุทธองค์มาบิณฑบาต เขาคิดว่า แม้แต่ยกมือพนมก็ไม่ไหว ข้าวจะใส่บาตรก็ไม่มี ขอเอาจิตอันบริสุทธิ์นี้ระลึกถึงและยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คิดแล้วจึงทําจิตใจให้เลื่อมใสในพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบในจิตที่เลื่อมใสของ “มัฏฐกุณฑลี” จากนั้นก็เสด็จจากไป “มัฏฐกุณฑลี” สิ้นใจในวินาทีนั้นเองและได้ไปเกิดเป็นเทวดา

นี่เป็นอานิสงส์ของการ “เจริญมรณานุสติ” และ “การรักษาใจให้ผ่องใส” มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแน่นอน

………………………..

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจายวรวิหาร รองประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี