นักวิจัยหลายคนทำการบันทึกการออกเสียงมากกว่า 4,800 เสียง ซึ่งมาจากลิงชิมแปนซี 3 กลุ่ม ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติตาอี ของประเทศไอวอรีโคสต์ หนึ่งในป่าไม้เขตร้อนปฐมภูมิที่สำคัญแห่งสุดท้ายในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และเป็นบ้านของพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์

ลิงชิมแปนซี รวมไปถึงสายพันธุ์ใกล้เคียงอย่าง ลิงโบโนโบ คือเครือญาติทางพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงที่สุดกับมนุษย์ เป็นลิงที่ฉลาดและเข้าสังคมสูง สามารถสร้างเครื่องมือ และสอนให้ทำท่าทางมนุษย์แบบพื้นฐานบางอย่างจากภาษามือได้ แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้มานานแล้วว่า ลิงชิมแปนซีใช้การออกเสียงหลายแบบในป่า และการศึกษาครั้งใหม่แสดงถึงการตรวจสอบที่ครอบคลุมของการสื่อสารภายในสายพันธุ์เช่นนี้

“มันไม่ใช่ภาษา แต่มันคือรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนมากที่สุดสำหรับสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์” เซดริก กิราร์ด-บัททอซ นักนิเวศวิทยาพฤติกรรม จากสถาบันประชานศาสตร์ของศูนย์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (ซีเอ็นอาร์เอส) และผู้เขียนนำผลของการศึกษา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Communications Biology เมื่อไม่นานมานี้

ประเภทเสียงเรียกประกอบไปด้วย เสียงคราง, เสียงครางหอบ, เสียงเป่า, เสียงเป่าหอบ, เสียงร้อง, เสียงร้องหอบ, เสียงหอบ, เสียงกรีดร้อง, เสียงกรีดร้องหอบ, เสียงครวญคราง, เสียงคำรามหอบ, การขยับริมผีปากที่ไม่ออกเสียง และการเป่าปากเหมือนเสียงผายลม นักวิจัยกล่าวว่า ประเภทเสียงเรียกเหล่านี้ถูกใช้ในลำดับที่แตกต่างกันถึง 390 แบบ ซึ่งลำดับที่ลิงชิมแปนซีส่งเสียงร้องนั้น ดูเหมือนจะเป็นไปตามกฎและโครงสร้าง แต่การศึกษาไม่ได้รวมข้อสรุปเกี่ยวกับความหมายที่อาจมีอยู่แต่อย่างใด

“การค้นหาสำคัญคือ ความสามารถของสัตว์กลุ่มวานร นอกจากมนุษย์ ในการสร้างลำดับการออกเสียงที่มีโครงสร้างหลายแบบ และการรวมลำดับเล็กๆ ด้วยเสียงร้อง 2 แบบเข้าด้วยกันใหม่ ให้เป็นลำดับที่ยาวขึ้น โดยการเพิ่มเสียงร้องเข้าไป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่ามันแสดงให้เห็นถึงหลักฐานของการสื่อสารที่มีโครงสร้าง ที่อาจเป็นรากฐานของวิวัฒนาการ ต่อวากยสัมพันธ์ในภาษาของพวกเรา” กิราร์ด-บัททอซ กล่าว

นอกจากนี้ นักวิจัยยังต้องการที่จะเรียนรู้ว่า ลำดับที่หลากหลายสื่อสารความหมายแบบวงกว้างในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ซับซ้อนของเหล่าลิงชิมแปนซีได้หรือไม่ และมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความหมายที่เป็นไปได้ของการออกเสียงบางอย่างอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่มั่นใจว่า การสื่อสารด้วยเสียงของลิงชิมแปนซีอาจคล้ายกับจุดเริ่มต้นของภาษาในการวิวัฒนาการของมนุษย์หรือไม่ ถึงแม้มนุษย์และลิงชิมแปนซีจะมีบรรพบุรุษเดียวกัน แต่เชื้อสายของทั้ง 2 เผ่าพันธุ์ แยกออกจากกันเมื่อประมาณ 7 ล้านปีก่อนแล้ว

“เป็นไปได้ว่า ภาษาดั้งเดิม อาจอยู่ระหว่างสิ่งที่ลิงชิมแปนซีทำ และสิ่งที่มนุษย์ทำ” กิราร์ด-บัททอซ กล่าว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS