“ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยของเรา ผืนแผ่นดินนี้ มีสิ่งที่งดงามและอนาคตที่ดี รอพวกเราและลูกหลานเราอยู่ ผมเชื่อมั่นว่า เราได้เดินมาไกล และมาอย่างถูกทาง มั่นคงกว่าเดิมมากแล้ว เพื่ออนาคตประเทศไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

เป็นถ้อยคำปาฐกถาพิเศษ ในช่วงสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเอาไว้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

รายละเอียดเนื้อหายังถูกนำมาลงเผยแพร่เอาไว้ใน เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี-PMOC ท่านนายกรัฐมนตรีพยายามสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทำนองว่า เชิญชวนพี่น้องชาวไทยจับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง และเดินไปข้างหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน ตามวิสัยทัศน์ของเรา คือ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในการประกาศ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2580 ให้เป็น Master Plan ที่ชัดเจน และเป็น Roadmap ขับเคลื่อนประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอีก 14 ข้อ ที่นายกฯบรรยายไว้ว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วและวางแผนอนาคตอะไรไว้บ้าง ใครอยากรู้ว่ามีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามหาอ่านในเพจเฟซบุ๊ก

การออกมาปาฐกถาพิเศษของนายกฯช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 2565 ที่สำคัญยังตรงกับ “ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557” โดยผู้นำรัฐประหารที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ./หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย อ้างเหตุผลเพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในชาติ, ยุติความขัดแย้ง, ปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

8 ปีรัฐประหาร รอบนี้ มาประจวบเหมาะตรงวันเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 50 เขต พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพรรคการเมืองใหญ่ในซีก รัฐบาล (พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย) ส่วนฝั่ง ฝ่ายค้าน (เพื่อไทย-ก้าวไกล) และ กลุ่มอิสระ มีทั้งอดีตผู้ว่าฯ กทม., รองผู้ว่าฯ กทม. ต่างส่งตัวแทนร่วมแข่งขันเลือกตั้งต่อสู้กันระหว่างฝั่งที่อยู่เคียงข้างรัฐประหาร กับอีกฝั่งที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและประชาชนซึ่งถูกยึดอำนาจจากปลายกระบอกปืน

เชิงผา มีโอกาสพาลูกออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย ยอมรับว่าบรรยากาศค่อนข้างคึกคักไม่น้อย แม้บางพื้นที่จะมีฝนตกโปรยปรายลงมาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค ที่น่าสังเกตคือ ทั้งคนหนุ่มสาววัยรุ่นออกมาเลือกตั้งกันอย่างหนาตา หลังจากไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาเกือบ 10 ปี หลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 17.00 น. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.นักวิจัยซูเปอร์โพล เผยแพร่ข้อมูลทันทีว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 จะได้คะแนนระหว่าง 1 ล้าน-1.5 ล้านคะแนน

ไม่น่าเชื่อว่าพอเริ่มนับคะแนนไปได้ไม่กี่ชั่วโมง คะแนนของนายชัชชาติ เบอร์ 8 นำโด่งไปแบบไม่เห็นฝุ่นม้วนเดียวจบจริง ๆ ผลคะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) ชัชชาติ ชนะเป็นอันดับ 1 (1,386,215 คะแนน) ทิ้งขาด อันดับ 2 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 พรรคประชาธิปัตย์ (254,506 คะแนน), อันดับ 3 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล (253,666 คะแนน), อันดับ 4 สกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3 อิสระ (230,337 คะแนน) และ อันดับ 5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6 อิสระ (214,596 คะแนน)

เท่านั้นไม่พอผลคะแนน ส.ก. 50 เขต 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ก็ยังขับเคี่ยวกันระหว่าง เพื่อไทย กับ ก้าวไกล ชนิดพลิกล็อกหักปากกาเซียน เพราะผลคะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) เพื่อไทย กวาดเก้าอี้ ส.ก. 20 เขต, ก้าวไกล 14 เขต, ประชาธิปัตย์ 9 เขต รักษ์กรุงเทพ 3 เขต ส่วน พลังประชารัฐ, ไทยสร้างไทย แบ่งกันไปพรรคละ 2 เขต

เรียกว่าผลคะแนนการเลือกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. อาจสื่อให้เห็นว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร ออกมาใช้สิทธิกว่า 2.6 ล้านคน คิดเป็น 60% (ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4.3 ล้านคน) ตัดสินใจเลือกตัวแทนที่มาจากฝั่งประชาธิปไตย โดยใช้กลยุทธ์ “ปลายปากกา” ยึดอำนาจคืนจาก “ปลายกระบอกปืน” ลงคะแนนถล่มทลายเลือกชัชชาติ 1,386,215 คะแนน ได้สร้างสถิติใหม่ ส่วนคะแนน ส.ก. 50 เขต เลือกเพื่อไทยและก้าวไกล รวมกันได้ไป 34 เขต

สัญญาณเตือนผ่านมา 8 ปี ชาวบ้านคงเบื่อผู้นำที่ได้มาจากรัฐประหารเต็มทน เลยสั่งสอนกลับด้วย “ปลายปากกา” ในคูหาเลือกตั้ง ลงดาบกลุ่มเผด็จการและพรรคที่ไม่ได้ยืนเคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง!!

—————————
เชิงผา