ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.เป็นประธานเปิดโครงการ “อว.พารอด” มี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผช.รมว.อว.  นางสุวรรณา หรรษาจารุพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารบริษัทแฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้บริหารบริษัท สยามประทิน จำกัด และ น.ส. นิ่มนวล สุพรรณยศบรรณาธิการเพจอีจันเข้าร่วม

ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า โครงการ “อว.พารอด” เป็นนวัตกรรมในการเปลี่ยนคนที่รอเป็นคนที่รอด โดย อว.และเครือข่ายพันธมิตรทำโครงการนี้ด้วยหัวใจ ด้วยความเป็นห่วง แม้ไม่สามารถช่วยได้ทุกเรื่อง แต่ก็ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ และทำทันที ต้องขอบคุณพันธมิตรทั้งหลาย ที่เข้ามาร่วมมือกัน  

รมว.อว. กล่าวต่อว่า โควิดนั้นติดง่าย แต่รอดไม่ยาก แต่โครงการ อว.พารอด จะทำทุกอย่างให้รอดไปด้วยกันทั้งการระดมจิตอาสาและอาสาสมัคร ซึ่งอาจรวมถึงผู้ป่วยโควิดที่หายดีแล้ว มาร่วมโทรศัพท์ให้กำลังใจให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้านหรือในชุมชน เสริมจากการติดต่อสอบถามอาการตามปกติของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจะมีการส่ง “กล่อง อว.พารอด” ที่มียาสมุนไพรและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติมจากที่โรงพยาบาลมีให้ เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ที่สำคัญยังมีสเปรย์ลำไย สำหรับพ่นจมูกและลำคอป้องกันการติดเชื้อโควิด ซึ่งพัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนี้จึงใช้ทั้งหัวใจบวกกับนวัตกรรม และขอฝากไปถึงคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยว่า มีคนที่สนใจ ห่วงใย และกำลังพยายามทำเพื่อท่านอย่างเต็มที่  สำหรับกล่อง “อว.พารอด” เริ่มนำร่องส่งให้ผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลในเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ภายใต้ อว.แล้วตั้งวันที่ 30 ก.ค. เป็นต้นไป    ขณะเดียวกัน อว.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดมทุนสร้างระบบห้องความดันลบ ซึ่งใช้แบบพิมพ์เขียวที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยมีแผนการสร้างเครื่อง High Flow ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบื้องต้น สามารถระดมทุนสร้างระบบได้ถึง 50 ห้อง ซึ่งตามสถิติแล้ว หากสถานพยาบาลมีห้องความดันลบเพิ่มขึ้นหนึ่งห้อง จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิดได้ไม่น้อยกว่า 5 คนต่อสัปดาห์ โดยมีการส่งมอบห้องความดันลบห้องแรกแล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ที่สำคัญ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แสดงความจำนงในการบริจาคระบบบริหารจัดการผู้ป่วยรอเตียง ซึ่งสามารถปรับเป็นระบบบริหารจัดการผู้ป่วย Home Isolation ที่พัฒนาโดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตโควิดไปได้” ศ.ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เปิดเผยว่า อว.ยังทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก โดยได้ให้ทีมมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือU2T ร่วมออกหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในชุมชน หรือ CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team) ซึ่งขณะนี้ได้ส่งไปจำนวน 76 ทีม ในทุกพื้นที่ของ กทม. สนับสนุนการคัดกรอง ตรวจเบื้องต้นโดยวิธีหาแอนติเจน (ATK) ฉีดวัคซีน รวมทั้งทำกลไกกักตัวที่บ้านและชุมชน หรือ Home Isolation/ Commmunity Isolation

“รัฐบาลได้มอบให้ อว. ทำโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ หรือ U2T ตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้มีทีมของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว 3,000 ตำบล มีนิสิตนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทำงานอยู่แล้ว 60,000 คน โดยใน กทม. มีอยู่ 76 ทีม ซึ่งในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 นี้ อว. จึงได้ทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กทม.ในหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก CCRT ในทุกบทบาทมาสองสัปดาห์แล้ว ทั้งโดยกลไกU2T และทีมจิตอาสาและกำลังขยายผลไปสู่ทีมมหาวิทยาลัยสู่ตำบลทั่วประเทศโดยเร็ว” ปลัด อว.กล่าว