ประชุมการทำงาน

ช่วงเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 1 พร้อมด้วย นายกำพล สิริรัตตนนท์ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง นางสาวฉัตรประอร นิยม ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อหารือข้อราชการ ณ ห้องปฏิบัติงานผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายวิวาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมฯ ติดตามการดำเนินงาน โดยมีนายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการจังหวัดฯ ที่เกี่ยวข้อง รายงานสรุปการดำเนินงานตามประเด็นการตรวจราชการ โดยมีประเด็นสำคัญในการตรวจราชการ ประกอบไปด้วย การตรวจติดตามการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบลงทุน รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการใหม่ของ สป.มท. การตรวจติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณจัดหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การตรวจติดตามการพัฒนาและยกระดับคะแนนการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ได้แก่ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ/กั้นน้ำ การแจ้งเตือนภัย (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

สร้างมืออาชีพ ป้อนตลาด

นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย มทร.สุวรรณภูมิ ครั้งที่พิเศษ 3/2565 วันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศจัดตั้งโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นส่วนงานภายในของ มทร.สุวรรณภูมิ โดยมีฐานะเทียบเท่าคณะ สำหรับ โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2566 ณ มทร.สุวรรณภูมิ หันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ เพื่อสร้างนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมมืออาชีพ โดยปลูกฝังการเรียน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับ ปวช. จนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การยกร่างหลักสูตร ปวช.เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ เตรียมบริการธุรกิจ และเตรียมเกษตรกรรม เป็นหลักสูตรที่เข้มข้นทั้งทางวิชาการฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) สำหรับเป็นพื้นฐานให้กับทุกสาขาวิชาให้มีการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 ก่อนจะแยกเรียนตามสาขาวิชาเฉพาะทางในชั้นปีที่ 2 หลังจากนั้นจะมีการจัดให้ฝึกวิชาชีพเฉพาะทางของแต่ละสาขาวิชาในสถานประกอบการที่เป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก่อนขึ้นชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา นอกจากความเข้มข้นทางวิชาการผ่านกระบวนการเรียนการสอน การฝึกทักษะปฏิบัติด้วยเครื่องมือครุภัณฑ์ที่ทันสมัยโดยการสอนและการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของครู นักวิชาการผู้ชำนาญเฉพาะทาง (Specialist) ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน ยังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรทั้งด้านวิชาการ กีฬา นันทนาการ การฝึกปฏิบัติให้เป็นนวัตกรรมจิตอาสา ให้มีคุณธรรม จริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำกับดูแลเอาใจใส่แบบพิเศษ (Premium Services) จากคณาจารย์ บุคลากรของโรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของผู้เรียน ผู้ปกครอง และสังคม

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการจัดตั้งโรงเรียนเตรียม ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเน้นจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นนักปฏิบัติที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศแล้วยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ 2561- 2580)

สำหรับหลักสูตร ปวช.ฐานวิทยาศาสตร์ (STEM) ภายใต้โรงเรียนเตรียมเทคโนโลยีและนวัตกรรม มี 3 กลุ่มหลักสูตรนำร่อง คือ

1.หลักสูตร ปวช. เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ สาขางานเครื่องกลการผลิต สาขางานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สาขางานแมคคาทรอนิกส์ สาขางานโยธาและสถาปัตยกรรม

2. หลักสูตร ปวช. เตรียมเทคโนโลยีบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี สาขาการตลาด สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ และสาขางานเทคโนโลยีโลจิสติกส์

3. หลักสูตร ปวช. เตรียมเทคโนโลยีการเกษตร สาขาการผลิตทางการเกษตร และสาขาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้า

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารวิมลคุณากร ศาลากลางจังหวัดชัยนาท นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานแถลงข่าวการจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์ เพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมี พัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาท ประธานกลุ่มทอผ้าอำเภอเนินขาม และประธาน กลุ่มทอผ้าอำเภอหนองมะโมง ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้

โดยนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษาในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 รัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 บริเวณถนนราชดำเนินกลาง โดยจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โซนต่างๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งในการรังสรรค์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้

โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งทุกจังหวัดได้ร่วมน้อมนำพระราชปณิธานการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ที่พระองค์ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นในการที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรชาวไทยที่อาศัย ในทุกชุมชนห่างไกลทั่วประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการส่งเสริมศึกษารรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาการทอผ้าของบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย ได้มีอาชีพมีรายได้จุนเจือครอบครัวด้วยการเชิญชวนทุกภาคส่วนในจังหวัด นำผ้าอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นผีเสื้อขนาด และสีต่างๆ ตามที่เห็นเหมาะสมรวมจังหวัดละ 90 ตัว เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคล ด้วยการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ด้วยความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน

ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดชัยนาท โดยสำนักงานจังหวัดชัยนาท ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาทอำเภอเนินขาม และอำเภอหนองมะโมง ได้จัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าทอพื้นเมืองของอำเภอเนินขาม ผ้าทอพื้นเมืองของอำเภอหนองมะโมง ของกลุ่มฝีมือในพื้นที่จำนวน 90 ตัว พร้อมส่งให้กับกระทรวงมหาดไทย ต่อไป (สุรพล บำรุงศรี – วรชล ฟักขาว / ชัยนาท)

เน้นสื่อสารสำคัญ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จิบน้ำชา-กาแฟ” ครั้งที่ 3/2565 จัดขึ้นโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมพูดคุยกับหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้แทนทั้ง 16 อำเภอ และสื่อมวลชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการสื่อสารภาครัฐ เพื่อปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรม ตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐของจังหวัด โดยเน้นเรื่องสื่อสารสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทั้งในด้านในประเทศและต่างประเทศ โดยผ่านช่องทางต่างๆ ในสังกัดของแต่ละหน่วยงาน

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้นำท้องที่และประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกอำเภอ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวหรือเสียงตามสาย เพื่อเป็นการขยายช่องทางการสื่อสารนำข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนในจังหวัดได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์จังหวัด 76 จังหวัด ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.จังหวัด) ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามแนวทางของนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2563-2565 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในมิติของการบริหารข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ให้สอดคล้องกับเรื่องสื่อสารที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ไปสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด โดยมี ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน เครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) และสถานีวิทยุธุรกิจในพื้นที่ ร่วมหารือพูดคุยบริหารจัดการเนื้อหาประเด็นในพื้นที่ในรูปแบบกิจกรรมจิบน้ำชา-กาแฟ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ มีประเด็นที่พูดคุย อาทิ ด้านฟื้นฟูการท่องเที่ยว ด้านระบบสาธารณสุขและบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เชิงรุก ด้านการจัดการแรงงาน ด้านการส่งเสริมค่านิยมที่ดีของไทย ด้านความโปร่งใสของรัฐ ไทยเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดและประเทศอย่างต่อเนื่องอีกด้วย (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

จัดสภากาแฟ

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่าที่หอประชุมยิมเนเซียม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี ตำบลปากข้าวสาร อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในกิจกรรมสภากาแฟ เพื่อปรึกษาหารือการทำงานแบบไม่เป็นทางการในลักษณะสภากาแฟ มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชนทุกแขนง

การจัดกิจกรรม “สภากาแฟ” ได้หยุดการจัดไปในช่วงป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลาหลายเดือนและเป็นการร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคโควิด-19 จนมาถึงจุดที่รัฐบาลผ่อนคลายจึงได้กลับมาดำเนินกิจกรรม “สภากาแฟ” ขึ้นอีก ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ของปี 2565 และยังคงมาตรการป้องกันตามข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันโควิด-19

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการประชุมนอกรูปแบบที่จัดขึ้นเดือนละครั้ง โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามหน่วยงานต่างๆ ในการเป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การประสานงานและเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาความต้องการพร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ โดยในครั้งนี้มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดสระบุรี สำนักงาน กกต.จังหวัดสระบุรี ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในครั้งต่อไปจะเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพ (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดการคัดสรรสุดยอดหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ.2565 Otop Product Champion OPC ณ เรือนไทยหัตถศิลป์ โดยมี นางจิตติวรรณ สิทธิวิรัชธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี นายถวิล ยี่สุ้นแสง พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมคณะกรรมการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย จังหวัดสิงห์บุรี มาจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ค่าคะแนนผลิตภัณฑ์ ส่วน ก และส่วน ข หลังจากนั้น จังหวัดจะจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรฯ ไปเข้าสู่กระบวนการคัดสรรฯในระดับประเทศ เพื่อพิจารณาให้ค่าคะแนนในส่วน ค จากนั้นจึงจะมีการจัดระดับดาวของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท และจะมีการประกาศผลระดับดาวในระดับประเทศ ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ผลิตภัณฑ์ที่สมัครเข้าคัดสรรฯ ของจังหวัดสิงห์บุรีในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 76 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ จำนวน 37 ราย ประกอบด้วย 1.ประเภทอาหาร จำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ 2.ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ 3.ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ 4.ประเภทของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก จำนวน 22 ผลิตภัณฑ์ และ 5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระดับประเทศ จัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับจนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

เปิดแฟลตบ้านพักครู

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า นายอมร บริรักษ์เลิศ นายอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารแฟลตบ้านพักครู 8 ครอบครัว ณ โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีพระครูศรีธีรานันท์ รองเจ้าคณะอำเภอตาคลี / เจ้าอาวาสวัดดงพลับ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายจันทร์เทพจ์ เพ็ชรยิ้ม ผอ.รร.ตาคลีประชาสรรค์ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางสุวรรณดี สิริชัยเวชกุล นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ นางนงเยาว์ ทรัพย์บุญรอด เลขาฯ สมาคมผู้ปกครองและครู และนางสายบัว รักบ้านเกิด นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ นายบรรเลง ลิ้มมาลินันท์ รองนายกเทศมนตรีเมืองตาคลี นายสุทิน เพชรยิ้ม ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอตาคลี และ อดีตผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูอาจารย์ เด็กนักเรียน และผู้มีเกียรติ ร่วมพิธี (กิตติ์ธเนศ พัวพรพงษ์ / นครสวรรค์)

ให้ข้อคิดพนักงาน

นายสงกรานต์ ชุติธนธีระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จ.ลพบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร “อยู่พอเพียง พึ่งพาตน” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจัดโดยคณะทำงานเครือข่ายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโปร่งใส ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จ.ลพบุรี โดยมีนายสุธรรม แย้มมณฑา ประธานคณะทำงานเครือข่ายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโปร่งใส ฯ และผู้สนใจซึ่งเป็นผู้บริหารและพนักงาน กฟภ.สมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 50 คน ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี พร้อมมีการถ่ายทอดให้ผู้สนใจเข้าร่วมชมผ่านระบบออนไลน์ด้วย

การอบรมในหลักสูตรดังกล่าวเป็นไปตามแผนงานเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างการตระหนักด้านคุณธรรมและการต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมธรรมภิบาล ความโปร่งใสและมาตรฐานทางจริยธรรม ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก โดยนางพิรัลรัตน์ สุขแพทย์ ผอ.ศูนย์ฯ จัดให้มีการอบรมและศึกษาดูงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชาและทฤษฎีใหม่ จนนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในชีวิตประจำวันได้ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ ลพบุรี)

เตือนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใน 7จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ให้บริหารจัดการน้ำ  เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 300-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1.5-2.00 เมตร  ทั้งนี้ สำนักชลประทานที่ 12 ได้ควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หรือหากปริมาณน้ำหลากตอนบนลดลง สำนักงานชลประทานที่ 12 จะปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ  อย่างไรก็ตาม จึงขอแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

พิธีสู่ขวัญควาย

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ บริเวณสนามกีฬาโรงเรียนบ้านห้วยไผ่ขุย หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนางนวล อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฟื้นฟูประเพณีสู่ขวัญควายประจำปี 2565 โดยมี ว่าที่ร้อยตรีชยพล อัครจิรากุล นายอำเภอหนองฉาง กล่าวต้อนรับ และมี นายนิรุธ คฤหปาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองนางนวล กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายสรายุทธ วรรณสูตร ปศุสัตว์อำเภอหนองฉาง นายกฤษฎา ซัคเซค สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีเขต 1 อำเภอเมือง นางสาวอนัญญา พันธุเมฆ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เขต 1 อำเภอหนองฉาง นายวันชัย ชีวระ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี เขต 2 อำเภอ หนองฉาง ตลอดจนนายกองค์การบริหารตำบล ทั้ง 8 อำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี

โดยภายในงาน ได้มีการประกอบพิธีสู่ขวัญควายตามประเพณีโบราณ ตลอดจนมีการนำควายจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัด ที่ได้รับรางวัลต่างๆ จากการประกวดมาร่วมในพิธี ซึ่งปัจจุบัน ควายแต่ละตัวนี้มีมูลค่าหลายล้านบาท อาทิ บิ๊กอุทัยธานี มูลค่า 7 ล้านบาท, คชสาร 5 ล้านบาท และควายเผือก 2 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงควายได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงควาย รวมไปถึงการจับสลากมอบของรางวัลให้กับเกษตรกร ที่เข้าร่วมภายในงานนี้ อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการ ดังกล่าว ปศุสัตว์อำเภอหนองฉาง ได้ร่วมกับ อำเภอหนองฉาง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนางนวล สมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทย อบต.หนองนางนวล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ในพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้าน ร่วมกันดำเนินการจัดโครงการ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีสู่ขวัญควายไม่ให้สูญหายไป และเพื่อให้เกษตรกรที่เลี้ยงควายเข้าใจการผลิตควาย รวมไปถึงการจัดการการเลี้ยงดู และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะสมและถูกวิธี

อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ในการจัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตควาย เนื่องจากปัจจุบัน ควายอุทัยธานี เป็นควายสวยงามที่สร้างชื่อเสียงและมีมูลค่าเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงควายในจังหวัดนับกว่า 100 ล้านบาทต่อไป ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองนางนวลส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรและเลี้ยงควายเป็นหลัก ทางส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการเข้ามาช่วยพัฒนาและส่งเสริมด้านการเลี้ยงควายดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นไป

สำหรับข้อมูลจำนวนกระบือในประเทศไทย ปี 2564 มีจำนวน 1,463,022 ตัว เกษตรกร 256,849 ราย ในขณะที่ จังหวัดอุทัยธานี มีจำนวนกระบือ 28,336 ตัว เกษตรกร 2,600 ราย (ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม – จุติภรณ์ กำเนิดเวช / อุทัยธานี)

เกษตรเคลื่อนที่

นายรุ่งนิรันต์ นามวิชา ปลัดอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นประธานจัดกิจกรรมงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ประจำปี 2565 ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำซับสะแกเครือ หมู่ที่ 1 ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีนายธวัช ปานศรีทอง เกษตรอำเภอพระพุทธบาท และ นางดวงพร รุ่งเรือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธารเกษม นำพี่น้องเกษตรกร เข้าร่วมงาน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้จัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติม ควบคู่กันไปด้วย ในแต่ละสาขาทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง ดิน และน้ำ ฯลฯ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิชาการด้านต่าง ๆ มาให้บริการในคลินิกเกษตร โดยสามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ถึงในระดับตำบล เพื่อให้เกษตรกรสามารถข้ารับบริการทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทุกด้านในคราวเดียวกัน สำหรับหน่วยคลินิกเกษตรที่เปิดให้บริการ ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกปศุสัตว์ คลินิกหม่อนไหม และคลินิกอื่น ๆ

ซึ่งเป็นการให้บริการคลินิกเกษตรของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเกษตรกรให้ความสนใจมาร่วมงานและเข้ารับบริการทางการเกษตรจำนวนมาก (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

สนับสนุนจังหวัด

SCG โรงงานปูนซิเมนต์ไทย-สระบุรี นำโดยนายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ผู้อำนวยการโรงงานปูนซิเมนต์ไทย-สระบุรี ให้การสนับสนุนปรับปรุงบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี มูลค่า จำนวนทั้งสิ้น 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งดำเนินการโดยผ่าน CPAC Solution CSC สระบุรี ใช้อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ของเอสซีจี ในการปรับปรุงห้องพักฯ ให้สามารถลดเสียงดังรบกวนจากภายนอกฯ โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี) รับมอบ ซึ่งมี นางอังคณา ชิตะติดติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี, นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี และคณะผู้บริหารจาก ร่วมในพิธี ณ ห้องรับรอง ศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี (24 พ.ค.2565) (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)