ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัช จรัสวรภัทร นอภ.เชียงคำ จ.พะเยา ลงพื้นที่ยังบ้านดอยอีสาน หมู่ 2 ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ฟังความคิดเห็นชาวบ้าน หลังจากทางกรมชลประทานได้มีโครงการสร้างประตูระบายน้ำพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ แยกเป็นแก้มลิง 4 แห่งความจุอยู่ที่ 2.363 ล้าน ลบ.ม. หมู่บ้านที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างประตูระบายน้ำนี้ ประกอบด้วย บ้านห้วยหลวง บ้านร่องแช่ บ้านป่าตึงงาม จุด 1 จุด 2 ใน ต.เวียง และต.ศรีดอนไชย อ.เทิง จ.เชียงราย รวมทั้งบ้านดอยอีสาน ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา งบประมาณในการอยู่ที่ 595,750,000 บาท

นายปาโมกข์ ปิงเมือง ผอ.โครงการชลประทานพะเยา กล่าวว่า สำหรับโครงการสร้างประตูระบายน้ำนี้ มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะประตูระบายจุดการสร้างอยู่ตรงกึ่งกลางเส้นแบ่งเขตแนวของ 2 อำเภอคือ อ.เทิง จ.เชียงราย และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อที่จะได้นำน้ำอิงที่ไหลสู่แม่น้ำโขงน้ำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของภัยแล้งในอนาคตได้ด้วย ทั้งนี้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนั้นเป็นระบบของพื้นที่กรมชลประทานทั้งหมด 12,000 ไร่ แยกเป็นแก้มลิง 4 แห่ง ความจุอยู่ที่ 2.363 ล้าน ลบ.ม.อีกทั้งทางกรมชลฯได้เตรียมสร้างสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าขึ้น 3 แห้งด้วยกัน คือสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าบ้านป่าตึง ที่ตั้ง หมู่ 6 บ้านป่าตึงงาม ต.ศรีดอนไชย อ.เทิง สถานีสูบน้ำฯบ้านดอยอีสาน ที่ตั้ง หมู่ 2 บ้านดอยอีสาน ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ และสถานีสูบน้ำฯบ้านป่าตึง 2 ที่ตั้ง หมู่ 6 บ้านป่าตึงงาม ต.ศรีดอนไชย อ.เทิง ระยะโครงการในการก่อสร้างนั้นอยู่ประมาณ 5 ปีซึ่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ะจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน

ด้านนายธวัช กล่าวว่า หลังจากที่ตนลงพื้นที่เพื่อเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ของกรมชลฯและชาวบ้านในพื้นที่ทั้งจาก ต.หนองแรด ต.เวียง ต.ศรีดอนไชย อ.เทิง จ.เชียงราย และ ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างพอใจในการสร้างครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยมีการประชาคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งด้วยกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากมีน้ำไว้ใช้หน้าแล้งเพราะในหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านต่างต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่มาครั้งนี้ชาวบ้านเริ่มที่จะมีความหวังในการที่จะนำน้ำไว้ใช้การเกษตรช่วงหน้าแล้ง ส่วนในเรื่องของที่คาดว่าช่วงน้ำหน้าหลากจะมีกระแสน้ำไหลมาเป็นจำนวนมากนั้น ตนเชื่อว่าจะไม่มีเรื่องของกระแสน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการสร้างถนนเลียบน้ำอิงแห่งนี้เพื่อใช้ในการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้นด้วยเช่นกัน