สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ว่า ชาวสวิสลงประชามติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในหัวข้อคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายการปลูกถ่ายอวัยวะ ให้เป็นการใช้หลักการ “ความยินยอมพึงสันนิษฐานได้” กล่าวคือ ประชาชนอายุตั้งแต่ 16 ปี มีสถานะเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ เมื่อเสียชีวิต โดยเสียงสนับสนุนอยู่ที่ประมาณ 60%


อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอยู่ที่เพียง 40% เท่านั้น และกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่มีผลบังคับใช้ภายในเร็ววันนี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งหมด และปรับเปลี่ยนฐานข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องด้วย


ปัจจุบัน แพทย์ในสวิตเซอร์แลนด์สามารถนำอวัยวะของผู้เสียชีวิตมาใช้เพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ต่อเมื่อบุคคลนั้นแสดงความจำนงและอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น หากไม่พบหลักฐานดังกล่าว ให้การตัดสินใจเป็นสิทธิขาดของสมาชิกในครอบครัว คู่สมรส หรือญาติพี่น้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะคัดค้าน ส่งผลให้ผู้ที่จำเป็นต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะต้องเสียชีวิตระหว่างรอความช่วยเหลือไปไม่น้อย


ทั้งนี้ สถิติของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศขนาดเล็กซึ่งมีประชากรประมาณ 8.6 ล้านคน ระบุว่า เฉพาะเมื่อปีที่แล้ว มีคนไข้มากกว่า 1,400 ราย รอการปลูกถ่ายอวัยวะ และเสียชีวิตระหว่างรอเข้าสู่กระบวนการอย่างน้อย 72 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต 166 รายในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้ว แสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะไว้ล่วงหน้า และแพทย์นำอวัยวะจากบุคคลเหล่านี้ออกมาใช้รวม 484 รายการ เพื่อต่อชีวิตให้กับบุคลอื่นที่กำลังเฝ้ารอ.

เครดิตภาพ : REUTERS