สวิตเซอร์แลนด์มีสถานะ “ผู้เป็นกลางตลอดกาล” ที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา เมื่อปี 2358 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวทางปฏิบัติและภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากประเทศถูกมองว่าเป็น กันชนที่ไม่มีพิษภัย ระหว่างอำนาจใหญ่ของทวีปยุโยป ซึ่งด้านหนึ่งคือ ฝรั่งเศส ส่วนอีกด้านคือ ออสเตรียและรัสเซีย และคงไว้ซึ่งความปลอดภัยของสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเข้าห้ำหั่นกัน

อย่างไรก็ตาม มาร์คัส เฮฟลีเกอร์ ผู้สื่อข่าวการเมือง ของหนังสือพิมพ์ ทาเกิส-อันไซเกอร์ กล่าวว่า ความซาบซึ้งที่ประเทศถูกละเว้นจากสงครามทั้งสองครั้งนั้น “เหมือนอยู่ในพันธุกรรมของพวกเรา ซึ่งทำให้ความเป็นกลางสำคัญมากต่อชาวสวิส”

เมื่อรัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครน เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พลเมืองสวิสหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนประณามความก้าวร้าวของรัสเซีย, เรียกร้องให้มีการช่วยเหลือยูเครน และให้ที่พักพิงอยู่อาศัยแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวชาวสวิส ที่คิดว่าการที่ประเทศของพวกเขาจะลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้

“ปฏิบัติการลิเบโร” คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งรณรงค์ให้ประเทศมีส่วนร่วมกับยุโรป และลดยุทธศาสตร์แยกตัวออกจากชาติอื่น อีกทั้ง ซานีจา อาเมติ ผู้นำปฏิบัติการดังกล่าว เชื่อว่าสงครามครั้งใหม่นี้คือสัญญาณเตือน “คนสวิสตระหนักว่า พวกเขาคือส่วนหนึ่งของครอบครัวประชาธิปไตยเสรีนิยมในยุโรป และนี่คือการต่อสู้ระหว่างระบบของพวกเรา กับระบบเผด็จการและโจราธิปไตยของประธานาธิบดีปูติน”

นอกจากนี้ มันเป็นมุมมองที่พรรคการเมืองและสมาชิกของรัฐบาลสวิสส่วนใหญ่เห็นร่วมกัน ที่เคลื่อนไหวหลังจากความลังเลเล็กน้อยในการนำมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดของสหภาพยุโรป (อียู) มาใช้กับรัสเซีย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเมื่อ 40 ปีก่อน และการคว่ำบาตรก็นำมาซึ่งประเด็นจากทั่วโลก ที่มองว่าสวิตเซอร์แลนด์ละทิ้งความเป็นกลางไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อเป็นเรื่องของการคว่ำบาตร ความเป็นกลางจะมีความไม่แน่นอนในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม คนสวิสจำนวนมากกำลังเริ่มไตร่ตรองถึงตัวตนใหม่ และยุทธศาสตร์ความปลอดภัยใหม่สำหรับประเทศของพวกเขา โดยผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดแสดงให้เห็นว่า แม้ชาวสวิสกว่า 2 ใน 3 ยังคัดค้านแนวคิดการเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่ราว 52% เห็นชอบ

แนวคิดของความเป็นกลาง สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่ใช่สมาชิกของอียู คงไม่ใช่เรื่องที่ให้เอามาคิดเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่สงครามในยูเครนได้เปลี่ยนความคิดเหล่านั้นอย่างเห็นได้ชัด

ซานีจา เชื่อว่าสวิตเซอร์แลนด์มีส่วนรับผิดชอบในการป้องกันประชาธิปไตยเสรีนิยมในยุโรป “เราจำเป็นต้องถกเถียงกันอย่างจริงจัง ว่าเราจะปกป้องระบบของเราด้วยอาวุธหรือไม่” เธออธิบาย “แม้ผลที่จะตามมาจะเท่ากับว่า เราจะไม่เป็นกลางอีกต่อไป”

สำหรับมาร์คัส สงครามในยูเครนได้บ่งบอกถึงตำแหน่งของสวิตเซอร์แลนด์ในโลกสมัยใหม่ที่มีการแบ่งฝ่าย “สวิตเซอร์แลนด์คือส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกอย่างชัดเจน ทั้งคุณค่า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทุกสิ่งทุกอย่าง” เขากล่าว “คำถามสำคัญคือ เราสามารถวางตัวเป็นกลางตามความรู้สึกเดิม ในระเบียบของโลกสมัยใหม่นี้ได้หรือไม่?”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES