พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ ศอ.บต. และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้ร่วมกันจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ เป็นรายไตรมาส เพื่อให้มีเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นในเชิงพื้นที่ และใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 33,384 คน และไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 32,739 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่า โดยรวมยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น แม้ว่าในไตรมาส 1 ปี 2565 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.32 จากไตรมาสก่อนหน้านี้ระดับ 53.49 เป็นผลมาจากการปรับลดลงของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงปรับเพิ่มขึ้น สำหรับสาเหตุของการปรับลดลงของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมมาจากความกังวลของประชาชนที่มีต่อปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ของไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.58 จากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ระดับ 49.82 สำหรับความเชื่อมั่นในอนาคตยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นถึงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 56.94 จากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ระดับ 57.46 ดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อจำแนกรายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2565 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 โดยจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 57.03 สำหรับจังหวัดที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมรองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 53.36) นราธิวาส (ระดับ 51.37) ปัตตานี (ระดับ 51.22) และยะลา (ระดับ 50.94) สำหรับผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุดยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพหรือสินค้าและบริการมีราคาสูง รองลงมา ได้แก่ ปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐด้านการลดภาระค่าครองชีพ และการมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า ศอบต. จึงมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับครัวเรือนยากจนในพื้นที่ 4 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จากฐานข้อมูล TPMAP ปี 2565) 53,519 ครัวเรือน โดยจัดทำโครงการ นำร่อง 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน จำนวน 379 ครัวเรือน เพื่อค้นหากลไกการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน  การแก้ปัญหาการว่างงานของเยาวชนที่จบการศึกษาใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด 19 ,การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบทางเศรษฐกิจให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิต ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกลไกตลาด ,การแปรรูปโดยเน้นสินค้าฮาลาล การเสริมเสร้างการค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากกระทรวงพาณิชย์ในหลายโครงการ เช่น ภายใต้โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) หรือ CEO HALAL ที่มีเป้าหมาย 1,000 คน ในปี 2565, การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเฉพาะเมืองต้นแบบท่องเที่ยวเบตง ซึ่งการสร้างสนามบินนานาชาติ เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 การจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น Amazean Jungle Trail Betong ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม  ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทุกด้านมุ่งเป้าหมายให้สอดคล้องกับปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนและการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้