สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ว่า นายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวถึงการประชุมสุยอด ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กับผู้นำจาก 8 ประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ยกเว้นฟิลิปปินส์และเมียนมา ว่ารัฐบาลวอชิงตันคาดหวังการที่อาเซียน “จะมีบทบาทอย่างลึกซึ้งมากขึ้น” ในการพยายามนำเมียนมากลับคืนสู่ประชาธิปไตย หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564


แคมป์เบลล์ กล่าวด้วยว่า สหรัฐมุ่งหวังให้อาเซียนติดต่อประสานงานกับทั้งรัฐบาลทหาร และรัฐบาลเงาซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้าน ขณะเดียวกัน รัฐบาลวอชิงตันชื่นชมการริ่เริ่มของอาเซียน ในการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษทางการทูต และมอบหมายให้เดินทางเยือนเมียนมา เพื่อส่งสารถึงบรรดานายพล เรียกร้องให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของฉันทามติ 5 ข้อ


นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับจีน ยูเครน และไต้หวัน เป็นหัวข้อที่ไบเดนต้องการหยิบยกขึ้นมาหารือกับอาเซียนเช่นกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การสถาปนาอาเซียน เมื่อปี 2510 ที่ผู้นำอาเซียนรวมตัวกันที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เนื่องจากการประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน ครั้งแรก ในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2559 นั้น จัดที่รีสอร์ตซันนีแลนด์ส ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย


ทั้งนี้ แคมป์เบลล์ กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ตอกย้ำความสำคัญ และความจำเป็น ว่าสหรัฐคืแหนึ่งในพันธมิตรที่อาเซียนสามารถเชื่อมั่นได้ สหรัฐต้องไม่เอาตัวเองออกห่างจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และการแสวงหาช่องทางส่งเสริมการลงทุนของสหรัฐในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า การประชุมครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนด้วย จะนำไปสู่การประกาศ “วิสัยทัศน์สหรัฐ-อาเซียน”.

เครดิตภาพ : REUTERS