เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่รัฐสภา กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ (กลุ่มเยาวชนผู้ร่วมชุมนุม) ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. กรณีการละเมิดสิทธิในการชุมนุมบริเวณเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกพร้อมกลุ่มแนวร่วม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้อง 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ปรับลดงบประมาณสถาบัน-กองทัพสู้โควิด และ 3.เปลี่ยนวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีน mRNA ซึ่งการที่ประชาชนจะไปทำเนียบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะไปเรียกร้องโดยตรงต่อนายกฯ แต่ปรากฏว่ามีการจัดตั้งหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพตำรวจมาขวางทางประชาชน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธทำร้ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการฉีดน้ำ การใช้แก๊สน้ำตาหรือแม้แต่การใช้กระสุนยาง รวมทั้งมีการปิดกั้นทางที่ประชาชนจะไปทำเนียบรัฐบาล

ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวว่า ตามหลักสากลได้ระบุว่า หากมีการใช้รถฉีดน้ำไม่ควรฉีดใส่ตัวบุคคล แต่กลับมีการจงใจฉีดใส่ตัวบุคคล ส่วนมีการยิงกระสุนยาง ตามหลักสากลระบุว่าหากจะต้องยิงต่ำกว่าเอว ยิงลงพื้นหรือยิงขึ้นฟ้า แต่เจ้าหน้าที่กลับยิงใส่ตัวบุคคล มีผู้ชุมนุมอายุ 14 ปี ถูกกระสุนยางยิงเข้าเบ้าตาซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ สำหรับการใช้แก๊สน้ำตาไม่ควรยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่จงใจยิงเข้าหาตัวผู้ชุมนุม ซึ่งตามหลักสากลระบุว่าควรใช้แก๊สน้ำตาในที่เปิด เพราะแก๊สน้ำตาอาจทำให้ผู้ชุมนุมระคายเคือง หายใจไม่ออกหรืออาจหมดสติได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ควรทำความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เพราะในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้ความรุนแรง แค่ออกไปเรียกร้องวัคซีนที่ดี เพราะปัจจุบันมีประชาชนเสียชีวิตข้างถนนเป็นผักปลาแต่รัฐบาลไม่สนใจอะไรเลย

ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มมีข้อเรียกร้อง คือ 1.ขอให้มีการตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์การสลายการชุมนุม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) และการอนุมัติงบประมาณแต่ละครั้งในการปฏิบัติหน้าที่ 2.กลุ่มโมกหลวงมีหลักฐาน กระป๋องแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่ใช้ในการสลายการชุมนุม ในวันที่ 18 กรกฎาคมรวมถึงการชุมนุมอื่นๆ ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอให้มีการตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายชุมนุม 3.ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ในวันที่ 18 ก.ค. ได้แก่ 1.พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 3.พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 4.พล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 5.พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นการปิดกั้นสิทธิของประชาชนในการชุมนุม ซ้ำยังใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน กลุ่มโมกหลวงขอให้มีการสอบสวน ออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่ตามรายชื่อดังกล่าว เพื่อตรวจสอบการออกคำสั่งการใช้หน้าที่โดยมิชอบในการขัดขวาง การปิดกั้นและการใช้ความรุนแรง ตรวจสอบวินัยและปรับทัศนคติ หากมีความผิดขอให้มีการดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง

ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบนี้เกิดจากการที่มีผู้ไปใช้บริการทำเนียบรัฐบาลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นคลัสเตอร์เกี่ยวกับคนในรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ไม่แม้แต่จะลงโทษหรือปลดคนที่เป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดครั้งนี้ สิ่งที่เห็นต่อมาคือบรรยากาศที่หดหู่ คนตายทุกวัน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง คนตกงาน คนล้มกลางถนน คนไม่พอใจซึ่งกำลังเรียกร้องการมีชีวิตและเห็นความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อผู้ชุมนุม แต่ไม่กล้าหาญที่จัดการกับคนที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาด ตนคิดว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การสลายการชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง แต่คือการทำหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ข้อเรียกร้องหลายข้อของผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที แต่น่าเสียดายที่รัฐไม่ตอบรับอะไร แต่กลับใช้ความรุนแรงต่อไป ตนในฐานะโฆษก กมธ. จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.โดยทันทีเมื่อ กมธ.กลับมาทำหน้าที่หลังจากช่วงงดประชุมแล้ว เพื่อให้เกิดการตรวจสอบต่อไป ท่ามกลางการสลายการชุมนุม คำถามสำคัญคือเมื่อไหร่รัฐบาลจะรับผิดชอบกับการบริหารจัดการล้มเหลวในการจัดการโควิด-19.