ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. แถลงข่าวในประเด็นหลักเกณฑ์ข้อที่10.ที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ได้รับข้อมติจากคณะกรรมการมรดกโลก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ของไทย สำเร็จเพราะ กลุ่มเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่สำคัญ  ประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 พื้นที่  ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี  อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  และแนวเชื่อมต่อป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนในข้อที่ 10 คือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี  แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี จัดเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ โดยพบชนิดพันธุ์สัตว์ 720ชนิด ตามบัญชี IUCN Red List  เมื่อจำแนกเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species, CR) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ Siamese crocodile  ลิ่นชวา เต่าเหลือง และเต่าหก นอกจากนั้นยังมีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) 8 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species, VU)  23 ชนิดและ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Near Threatened Species, NT) 25 ชนิด

สำหรับประเด็นการจัดที่ดินทำกินนั้น สืบเนื่องจากปี พ.ศ. 2539  ได้มีการอพยพราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา บริเวณบ้านใจแผ่นดิน ลงมารวมกันตรงข้ามกับหมู่บ้านโป่งลึกและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านบางกลอยขึ้น โดยมีแม่น้ำเพชรบุรีกั้นระหว่างหมู่บ้านโป่งลึก และหมู่บ้านบางกลอยทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนซึ่งยังปักปันไม่แล้วเสร็จ โดยมีชาวบ้านทั้งหมด   57 ครอบครัวประมาณ 230 คน โดยกรมป่าไม้ในขณะนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างบ้าน ห้องน้ำ และถังเก็บน้ำให้กับทุกครัวเรือนและจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ พื้นที่ปลูกบ้านประมาณ  3 งาน จำนวน 57 แปลง ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากร ในหมู่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 พบว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ  113 ครอบครัว จำนวนประชากรพิ่มขึ้นเป็น  673คน  ปัจจุบันมีการสำรวจ การถือครองที่ดินของบ้านบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562โดยจะนำผลการสำรวจและจัดทำแผนที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

ในด้านการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2558 – 2563 นั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้แทนราษฎรจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและโดยรอบ ทั้งหมดรวม 55 หมู่บ้าน ซึ่งรวมทั้งหมู่บ้านชาวไทยและกะเหรี่ยงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีการดำเนินการทั้งในระดับกลุ่มป่า ระดับพื้นที่อนุรักษ์ หมู่บ้าน และกลุ่มบ้าน ในการประชุมชี้แจงแต่ละครั้ง มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม  รวมทั้งผู้แทนจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ประเทศไทยด้วย  สำหรับหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น  มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่สื่อสารได้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา  ซึ่งได้รับฟังและรวบรวมข้อเรียกร้องของราษฎร นำมากำหนดมาตรการและแนวทาง การดำเนินงานให้สอดคล้องกับตัวบทกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในภาพรวมของประเทศ  ทั้งนี้ ผลการรับฟังความเห็นเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ในด้านการบริหารจัดการพื้นที่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ (Protected Area Advisory Committee, PAC) ในแต่ละพื้นที่ของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกะเหรี่ยงในการบริหารจัดการพื้นที่  โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย๒ คน ร่วมเป็นกรรมการ และนอกจากนั้นยังมีการจ้างงานชาวกะเหรี่ยงเพื่อทำงานในอุทยานแห่งชาติด้วย  ด้านการดูแลคุณภาพชีวิตนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่น้อยกว่า 22 หน่วยงาน  เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ กว่า  88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่  ส่งเสริมอาชีพ  และเสริมสร้างสุขอนามัย ให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  อาทิการส่งเสริมการเกษตร  การส่งเสริมอาชีพโครงการส่งเสริมศิลปาชีพและมูลนิธิปิดทองหลังพระ  ระบบประปาหมู่บ้าน  ระบบน้ำบาดาล  พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ โรงเรียน  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สุขศาลาประจำหมู่บ้าน  และการส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นต้น สำหรับการดำเนินงานในฐานะ หน่วยงานประสานงานกลาง ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก  นั้น สผ. จะต้องจัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ต่อไป