สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) แถลงเมื่อวันพุธ ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ( เอฟโอเอ็มซี ) มีมติเห็นชอบ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น 0.50% สู่ระะดับ 0.75-1.0% นับเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 0.50% ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2543 โดยตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับไม่เกิน 0.25%


พาวเวลล์ กล่าวว่า เฟดมีความวิตกกังวลและจับตาสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และบรรยากาศของตลาดแรงงานที่ตึงตัว แม้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งก็ตาม


ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมดำเนินการ แผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล ( Quantitative Tightening ) หรือ “คิวที” ปัจจุบัน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ ซึ่งมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง หรือ “เอ็มบีเอส” มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 303.14 ล้านล้านบาท )


ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่จะถึง เฟดเตรียมลดขนาดงบดุลในวงเงิน 47,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ( ราว 1.61 ล้านล้านบาท ) โดยจะเป็นการปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.02 ล้านล้านบาท ) และตราสารหนี้เอ็มบีเอส วงเงิน 17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 596,015 ล้านบาท ) ครบกำหนดโดยไม่มีการซื้อเพิ่มอีก


ขณะที่อีก 3 เดือนหลังจากนั้น การลดขนาดงบดุลจะเพิ่มเป็นเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3.23 ล้านล้านบาท ) แบ่งเป็นพันธบัตรวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 2.04 ล้านล้านบาท ) และตราสารหนี้เอ็มบีเอส 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.19 ล้านล้านบาท ).

เครดิตภาพ : REUTERS