นับตั้งแต่สภาพอากาศของฤดูร้อนมาถึง ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้ “เนมันจา ดราจิซ” วัย 36 ปี อาชีพวิศวรกร บอกว่า เขาไม่สามารถเปิดประตูตรงระเบียงห้องในอพาร์ตเมนต์ที่พักได้ โดยไม่มีเสียงดังผสมปนเปกันเข้ามาได้เลย เขาต้องใช้เงินเก็บที่มีไปทำประตูให้หนาขึ้น หน้าต่างก็ให้แน่นขึ้น เพื่อที่จะอุดหรือปิดกั้นเสียงดังจากบาร์และไนท์คลับด้านล่าง ให้ดังขึ้นมาถึงห้องได้

อพาร์ตเมนต์ของเขานั้น มองเห็นถนนในกรุงเบลเกรดด้านล่างได้เลย ซึ่งเมืองหลวงของเซอร์เบียก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดของเมืองหลวงประเทศในยุโรป ที่มีชื่อเสียงของการสนุกสนาน ดื่มกินสังสรรค์หลังอาทิตย์ตกดิน เสียงแห่งความสนุสนานบันเทิงเริงรมย์เหล่านี้ ไม่สามารถทำให้เขาต้องเปิดประตูไว้ได้เลยในช่วงฤดูร้อน เพื่อที่จะได้พักผ่อนอย่างไม่อยากให้ถูกรบกวนในบ้านพักอาศัย เสียงแบบนี้แหละที่เพื่อนบ้านได้ฟังได้สัมผัส แล้วอยากหนีออกจากเมืองไป

ชาวบ้านในย่านธุรกิจของกรุงเบลเกรดเคยร้องเรียนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เกี่ยวกับเสียงอึกทึกครึกโครมจากบาร์ ดิสโก้ และไนท์คลับ แถมทางการหรือหน่วยงานของรัฐก็แทบไม่ได้แก้ไข หรือทำอะไรได้เลย บางกลุ่มชุมชนหรือสมาคมพลเรือนถึงกับยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป อ้างว่าเป็นการสร้างความทุกข์ทรมาน และสิทธิของครอบครัวและความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด

ทนายความมารินา มิยาโตวิช บอกว่า เคยนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาลที่เมืองสตาร์สบูร์ก หลังทางการเบลเกรดไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลท้องถิ่นเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่ได้ทำให้เสียงดังลดน้อยลงมาได้ แต่ศาลยุโรปยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ แต่ทางฝั่งผู้ร้องก็อยากเห็นศาลยุโรปยืนยันว่า มีการละเมิดสิทธิจริง ๆ และสั่งการให้รัฐบาลเซอร์เบียใช้มาตรการเพื่อควบคุม และลดระดับเสียงลงมาให้ได้ ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุขได้

เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของกรุงเบลเกรดก็ยังไม่ได้ตอบรับคำชี้แจงต่อสำนักข่าวเอพี แม้จะเคยสัญญาเอาไว้แล้วว่า จะแก้ปัญหาการร้องเรียนเรื่องเสียงดังจากสถานบันเทิงยามราตรี และบอกว่าได้เตรียมออกกฎใหม่เรื่องการควบคุมเสียง เพื่อให้อำนาจรัฐขยายวงกว้างดูแลได้ถึงระดับชุมชน

มิซา รีลิช นายกสมาคมสถานบันเทิง บอกว่า เขาทราบแล้วถึงความตึงเครียดระหว่างผู้อยู่อาศัยบางรายในกรุงเบลเกรด แต่ก็เตือนว่าการรีบออกกฎในช่วงที่ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบสิ่งที่เขาเรียกว่า ความมีชื่อเสียงของสถานที่ท่องเที่ยวของกรุงเบลเกรด นั่นคือ คลับและบาร์ เขาพร้อมที่จะทำข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย และเข้าใจถึงจุดยืนของทั้งสองฝ่าย และพร้อมที่จะหาทางประนีประนอมอย่างเท่าเทียมกัน

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัญหาเสียงดังจากความบันเทิงยามค่ำคืน ก็เป็นปัญหาร้ายแรงที่เห็นได้ชัด เมื่อช่วงปลายเดือนมิ.ย.ถึงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพราะชีวิตยามราตรีของเบลเกรดปะทุออกมาอย่างเต็มกำลัง ด้วยการแสดงคอนเสิร์ตเป็นชุด กิจกรรมละเล่นและเทศกาล รวมถึงการดื่มกินสังสรรค์ นำมาซึ่งการรวมตัวของคนจำนวนมาก กระตุ้นให้การแพร่ระบาดของไวรัสตัวร้ายอาจกลับมาระบาดอีก เพราะพบว่ามีกิจกรรมไม่กี่รายการเท่านั้น ที่ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนแล้ว หรือมีผลตรวจเป็นลบ

อนา ดาวิโก แห่งชมรมลดเสียงดังแห่งเบลเกรดบอกว่า รัฐบาลท้องถิ่นควรจะปฏิบัติตามตัวอย่างของเมืองอื่น ๆ ในยุโรป ซึ่งก็มีแสงสีหรือชีวิตยามราตรีเช่นกัน ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการติดอุปกรณ์ป้องกันเสียงในสถานบันเทิง และสิบปีที่มีการก่อตั้งชมรมขึ้นมาเพื่อการนี้ ปรากฏว่าสถานการณ์ในเบลเกรดและทั่วทั้งเซอร์เบียก็ยังคงเลวร้ายต่อไป

ดังนั้น กลุ่มชมรมพลเมืองและประชาชน จึงรวบรวมคำร้องที่ได้แจ้งความไว้กับตำรวจ หลักฐานอุปกรณ์บันทึกเสียง ส่งไปยังศาลยุโรป เพื่อยืนกรานว่า เสียงดังเหล่านี้มันเกินกฎหมายกำหนด มีสถานบันเทิงไม่กี่แห่งที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง

ดราจิซบอกว่า ปัญหาเสียงดังจากถนนที่อพาร์ตเมนต์ของเขา ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง มีแต่คนอยากจะขายออกไป เพราะอยากย้ายออกไปอยู่นอกเมืองดีกว่า แม้บาร์เหล้าที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยนี้บอกว่า จะปิดบริการตอนเที่ยงคืน แต่กว่าจะถึงตอนนั้นเสียงก็ดังจนรับไม่ได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP