สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ว่า ข้อมูลของดับเบิลยูเอชโอในภูมิภาคยุโรปที่รวบรวมและนำเสนอ ระบุว่า ปัญหาความอ้วนส่งผลต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสัดส่วนผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินอยู่ที่ 63% เมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้หญิงที่ 54%

1 ใน 3 ของประชากรวัยเด็กก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย 29% ของเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 7-9 ขวบ มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน และสัดส่วนของเด็กผู้หญิงในช่วงอายุเดียวกันอยู่ที่ 27%

นอกจากนี้ สัดส่วนของกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 25% ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่มีน้ำหนักเกิน มีแค่ 8% เท่านั้น

รายงานของดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า คนที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วน ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงระหว่างการระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งคนที่มีน้ำหนักตัวมาก มีแนวโน้วที่จะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตเพราะโรคต่าง ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่น

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า ภาวะโรคอ้วนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เพิ่มขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน

ภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน อยู่ในกลุ่มสาเหตุหลักโดยทั่วไปของความพิการ และการเสียชีวิตในภูมิภาคยุโรป และโรคอ้วนสามารถกลายเป็นปัจจัยความเสี่ยงหลัก ต่อการเป็นมะเร็งในอีกหลายสิบปีข้างหน้าของบางประเทศ ซึ่งแทนที่การสูบบุหรี่ ที่เป็นสาเหตุหลักในปัจจุบัน

ความอ้วนสามารถทำให้เกิดมะเร็ง, โรงระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจอื่นๆ, ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตับและไต, อาการปวดหลัง และปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ

การประเมินแสดงว่า ในปัจจุบัน ภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เป็นปัจจัยความเสี่ยงโดยทั่วไปสำหรับโรคไม่ติดต่อในภูมิภาค มากเป็นอันดับที่ 4 ตามหลังความดันโลหิตสูง, ความเสี่ยงด้านโภชนาการ และบุหรี่ ตามที่รายงานระบุ

ดับเบิลยูเอชโอในภูมิภาคยุโรปประกอบด้วย 53 ประเทศ รวมถึงตุรกี, รัสเซีย และยูเครน ซึ่งอยู่นอกสหภาพยุโยป (อียู) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีประเทศใดในภูมิภาคแห่งนี้ มีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายยับยั้งการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วน ภายในปี 2568

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES