การสิ้นสุดของการเว้นระยะห่างทางสังคม รื้อฟื้นประเพณีออฟฟิศอันเก่าแก่ของการรวมตัวกันรับประทานอาหารหลังเลิกงาน ส่วนหนึ่งของธรรมเนียมที่เรียกว่า “โฮชิก” ในเกาหลีใต้ จาง เป็นหนึ่งในจำนวนที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานวัยหนุ่มสาว ที่มองว่ามันเป็นวัฒนธรรมบริษัทที่ล้าสมัย ซึ่งก้าวก่ายเวลาส่วนตัวของพนักงาน

“โฮชิกคือส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานของคุณ นอกเสียจากมันไม่ต้องจ่ายเงิน” จาง ที่อาศัยและทำงานในกรุงโซล กล่าว เธอขอให้ระบุตัวตนเพียงแค่นามสกุล เพื่อที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับนายจ้างของเธอ

เกาหลีใต้ผ่อนคลายเคอร์ฟิวช่วงเที่ยงคืนให้กับบาร์และร้านอาหาร พร้อมกับการรวมกลุ่มส่วนตัวไม่เกิน 10 คน ซึ่งกฎต่าง ๆ เป็นเหมือนแนวทางสำหรับบริษัทในการนำเอานโนบายการทำงานทางไกลมาใช้ และควบคุมการรวมตัวที่ไม่จำเป็น เช่น การดื่มกินนอกชั่วโมงทำงาน

“สิ่งที่แย่ที่สุดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเย็นหลังเลิกงานร่วมกัน คือ คุณไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ และด้วยการดื่มแล้ว มันอาจจะลากยาวไปถึงตอนกลางคืนก็ได้ใครจะไปรู้” จาง กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การระบาดอาจทำให้มั่นใจได้ว่า วัฒนธรรมโฮชิกที่คร่ำครึกำลังเลือนหายไปในทางที่ดี

“ตอนนี้เหล่าพนักงานรู้แล้วว่ามันเป็นยังไง ที่มีชั่วโมงนอกเวลางานเก็บไว้ให้ตัวพวกเขาเอง ทางบริษัทจะไม่สามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมการรวมกลุ่มในวันหยุดสุดสัปดาห์ และการรับประทานอาหารหลังเลิกงานแบบเก่าได้อย่างเต็มตัว” ศ.ซอ ยอง-กู ศาสตราจารย์ด้านการตลาด แห่งมหาวิทยาลัยสตรีซุกมยอง ในกรุงโซล กล่าว

แม้ความไม่พอใจเรื่องการรับประทานมื้อเย็นหลังเลิกงานของพนักงานหนุ่มสาวจะเพิ่มขึ้น แต่พนักงานอาวุโสยังคงเชื่อว่าการรวมตัวเช่นนี้ จำเป็นต่อการสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ศ.ซอ กล่าว

“สุดท้ายมันก็เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อีกอย่างหนึ่ง” เขากล่าว “แต่ต่อให้วัฒนธรรมการรับประทานอาหารหลังเลิกงาน และการรวมตัวกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ มีอยู่ต่อไปก็ตาม มันก็ไม่สามารถจัดได้บ่อยครั้งเหมือนอย่างที่เคยเป็น”

ขณะที่หลายบริษัททยอยให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ บางบริษัทก็กำลังหาแนวทางส่วนกลาง เลือกโมเดลการทำงานแบบผสมผสาน แทนการใช้แบบแผนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มตัว

บริษัท เอสเค เทเลคอม จำกัด คือบริษัทแห่งหนึ่งที่กำลังดำเนินงานเรื่องพื้นที่ทำงานใหม่ เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานที่บ้าน, ที่สำนักงานใหญ่ หรือที่พื้นที่ทำงานส่วนย่อย ซึ่งทางบริษัทเป็นคนเปิดให้

“เราไม่มีการแนะนำที่เจาะจงในเรื่องการรับประทานอาหารเย็นของบริษัท แต่มันจะเกิดขึ้นน้อยลงเมื่อพนักงานของเราส่วนมากทำงานที่บ้าน” เจ้าหน้าที่บริษัทคนหนึ่งกล่าว และขอให้ไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อ

“กุญแจสำคัญคือ พวกเราไม่ถือสาว่าพนักงานของเราจะทำงานที่ไหน หรือพวกเขาจะเข้าออฟฟิศบ่อยแค่ไหน ตราบใดที่มันช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาดีขึ้นได้”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS