เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายไซราม ประกายกิจหรือครทอมมี่ ผู้สมัคร ส.ก. เขตคลองเตย เบอร์ 7 พรรคก้าวไกล อดีตครูภาษาอังกฤษ โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา (70 ไร่) ลงพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ เพื่อแนะนำตัวและนโยบายสำคัญบริเวณล็อก 4-5-6 ได้รับเสียงตอบรับจากพี่น้องประชาชน และเด็กๆ ในชุมชนอย่างคึกคัก

นายวิโรจน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงความท้าทายในพื้นที่คลองเตยว่าเป็นเขตที่มีความซับซ้อน ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส ไปจนถึงเรื่องอาชญากรรม ผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่หวั่น เชื่อแนวนโยบายที่เน้นกระจายงบประมาณ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาจากล่างขึ้นบน และคนคลองเตยจะสามารถออกแบบชีวิตของตนเองได้จากการกระจายงบประมาณและพัฒนาอย่างถูกจุด แต่วิโรจน์ก็ย้ำว่า การกระจายงบจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาด ส.ก. ที่รู้จักพื้นที่ ปัญหา และใกล้ชิดประชาชน ซึ่ง “ครูทอมมี่” เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ดังกล่าว เนื่องจากครูทอมมี่ เป็นอดีตครูมัธยมของโรงเรียนประจำชุมชน และมีความใกล้ชิดกับทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ทำให้เข้าใจปัญหาของพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากเป็นผู้ว่าฯ จะเร่งกระจายงบประมาณลงพื้นที่คลองเตย ผ่านนโยบายงบประมาณที่ประชาชนออกแบบเอง เพื่อช่วยสนับสนุนความต้องการของคนในพื้นที่ เชื่อว่าถ้าได้กระจายงบประมาณแล้ว ประชาชนจะได้ทำในสิ่งที่ต้องการ คลองเตยเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุจำนานมาก จึงตั้งใจสนับสนุนงบสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุอีก 400 บาท เป็น 1,000 บาทหวังปักธงรัฐสวัสดิการสำเร็จที่กทม.เป็นแห่งแรก นอกจากนี้ ตนยังมีนโยบายที่จะเติมงบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นนำงบสนับสนุนอาหารกลางวัน และจ้างครูพี่เลี้ยงให้เป็นพนักงานประจำของกทม. เพราะแต่เดิมกทม. จ้างคนทำให้เป็นเพียงอาสาสมัคร ทำให้ขาดสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต ผู้ว่าฯ จึงต้องสร้างความมั่นคงให้คนทำงาน และจุดนี้เองจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่กล้าที่จะใช้ชีวิต และจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจจากความมั่นคงทางการเงิน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พ.ค.รัฐบาลต้องเห็นคุณค่าของคนทำงานทุกคน โดยเฉพาะในด้านการจัดสวัสดิการ เพราะหลังจากที่มีวิกฤตโควิด แรงงานนอกระบบ เป็นคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง กลุ่มคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงวิกฤตนี้ เพราะเป็นลูกจ้างที่เคยเป็นคนทำงานมาก่อน แต่ต้องตกงานกะทันหันเพราะผู้ประกอบการไม่มีกำลังที่จะทำธุรกิจต่อ นอกจากกทม. จะต้องเร่งให้ความช่วยเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาระยะยาวสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การจ้างงานประชาชนให้เป็นลูกจ้างกทม.ในตำแหน่งที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น ครูพี่เลี้ยง รุกขกร(พนักงานตัดแต่งต้นไม้) พนักงานเก็บขยะ เป็นต้น ซึ่งถ้ากทม.จัดการตรงนี้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษบกิจ ปากท้องได้