ในขณะเดียวกัน…กับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานนั้น นอกจาก “แรงงานไทย” แล้ว…ในไทยก็ยังมีกรณี “แรงงานข้ามชาติ” เป็นประเด็นที่ “ก็ยังต้องแก้” อีกด้วย รวมถึง “แรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ” ที่ “ก็เกี่ยวข้องกับนโยบายบริหารของผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่…

แรงงานข้ามชาติ “ก็เกี่ยวโยงการพัฒนากรุงเทพฯ” 

และกรณี “สุขภาพแรงงานข้ามชาติ” นี่ “ก็ยึดโยง”

โดยวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีแง่มุมมาสะท้อนต่อ…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ” นั้น…ก็ได้มี “ข้อเสนอแนะ” ออกมาผ่านทางโครงการวิจัยชื่อ “การจัดบริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความมั่นคงทางสุขภาพ บรรลุวิสัยทัศน์ความยั่งยืนและเป็นธรรม” โดย ชลนภา อนุกูล, ศยามล เจริญรัตน์, จิตติพร ฉายแสงมงคล ที่ได้ทำวิจัยในหัวข้อนี้ รวมถึงได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” เพื่อใช้เป็นทางเลือกเชิงนโยบายในการ “จัดระบบสุขภาพพื้นที่กรุงเทพฯ” ให้ครอบคลุม “กลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ” ซึ่งเป็นอีกกลุ่มทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่มักจะถูกมองข้ามหรือหล่นร่วงไปจาก “มาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด” ที่ผ่านมา… สะท้อนได้จากครั้งที่มี “วิกฤติโควิด-19 ระบาด” ในระลอก 4 ที่…

กับคนกลุ่มนี้ “มีปัญหา-มีผลกระทบค่อนข้างมาก!!”

ในรายงานวิจัยดังกล่าวฉายภาพไว้ว่า… การที่ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย มีการลดลงของจำนวนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง ปัจจุบันน่าจะมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในเขตเมืองราวร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ช่วงมีวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนว่า… เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ สะท้อนว่า…กทม. มิอาจละเลยพลเมืองทางเศรษฐกิจกลุ่มนี้!!

นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึง ข้อมูลจากงานวิจัยในช่วงปี 2564 ที่ได้สำรวจอุปสรรคและโอกาสของระบบสุขภาพ ที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตกรุงเทพฯ โดยพบว่า…นโยบายการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ไม่ปรากฏวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการบูรณาการแรงงานข้ามชาติ กลุ่มนี้ รวมถึงใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และรวมถึงใน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ทั้งนี้ ไม่ปรากฏนโยบายด้านนี้ในแผนพัฒนาระดับเมืองของ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทย ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่มีประชากรแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในอาเซียน

รายงานวิจัยยังมีการระบุไว้ว่า… การที่คนในเมืองยัง มีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติ นั้นถือเป็นอุปสรรคในเชิงนโยบายและการจัดบริการสุขภาพให้พลเมืองทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ โดยทัศนคติเชิงลบที่พบบ่อย ได้แก่ การมองแรงงานข้ามชาติเป็นแหล่งโรค เป็นภาระ ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีสิทธิอะไร โดยเฉพาะถ้าเป็นแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ขณะที่อีกอุปสรรคอย่าง การจัดบริการสุขภาพที่ไม่กระจายตัว ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ แม้ว่าจะเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และมีชื่ออยู่ในระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องที่ไทยมีอยู่??…

แม้แรงงานกลุ่มนี้จะมีสิทธิเข้าถึงระบบสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการที่มีอยู่ ซึ่ง กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลรัฐ 47 แห่ง แต่มีสถานที่ให้บริการตรวจสุขภาพ และขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าว เพียง 13 แห่ง ที่สำคัญยังไม่ค่อยมีการสื่อสารข้อมูลในภาษาของแรงงานข้ามชาติด้วย …นี่เป็นอุปสรรคสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้

ขณะที่ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น แรงงานข้ามชาติในเขตเมือง จำนวน 432 คน งานวิจัยนี้พบว่า… หน่วยบริการปฐมภูมิภาครัฐทั้งหมดในกรุงเทพฯ “ไม่มีพันธกิจเกี่ยวกับสุขภาพแรงงานข้ามชาติ” เลย!! และนอกจากนั้น ยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพจากระบบของรัฐ ซึ่งจากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทางคณะวิจัยจึงได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ไปถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” ที่กำลังจะมาจากการเลือกตั้ง ดังนี้…

เร่งบูรณาการแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานข้ามชาติเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชากรกลุ่มเป้าหมายในแผนพัฒนากรุงเทพฯ, เพิ่มจุดจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมืองมา, เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีให้นายจ้าง ของแรงงานข้ามชาติ ที่สนับสนุนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีประกันสุขภาพ, สนับสนุนการเรียนภาษาไทย, จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่แรงงานข้ามชาติสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย, พัฒนาศูนย์บริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่หนาแน่น และ เร่งสร้างทัศนคติเชิงบวก

…นี่เป็นหลัก ๆ จากงานวิจัย…กับ “ข้อเสนอแนะ” ถึง “ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่” ที่จะมาจากหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ตอนนี้ก็ใกล้โค้งสุดท้ายการหาเสียง ทั้งนี้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั้นแม้แรงงานเหล่านี้จะไม่สามารถลงคะแนนเสียง หากแต่…

“สุขภาพแรงงานข้ามชาติ” นี่ก็ “โยงสุขภาพคนกรุง”

เช่นไม่เป็นคลัสเตอร์โควิด…ก็ไม่เสี่ยงต่อคนกรุง

นี่ก็ “อีกโจทย์วัดกึ๋นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่???” .