จะด้วยมายาคติ หรือจะเพราะการที่ถูกฉายซํ้าผ่านสื่อต่าง ๆ ตลอดเวลา สังคมจึงมักมองว่าคนทำอาชีพนี้ดูเหมือนต้อยตํ่า หนำซํ้าในแง่ของกฎหมายแรงงานเอง ที่ยังไม่ค่อยมีความชัดเจนเรื่องการคุ้มครองคนเหล่านี้ นี่ก็ยิ่งทำให้อาชีพนี้บางครั้งก็ต้องพึ่งพาโชคชะตามากกว่าอาชีพอื่น เป็น “ภาพสะท้อน” ของ “วิถีชีวิตอาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน” ที่มีการฉายไว้ ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตสักราว 20-30 ปี คนทำอาชีพนี้มักถูกเรียกรวม ๆ ว่า “คนรับใช้” หรือ “คนใช้” อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาชีพใด ๆ ก็ล้วนสำคัญเท่าเทียม และยุคนี้โลกก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่คนในอาชีพนี้ แรงงานกลุ่มนี้ ก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในฐานะ “พลเมืองทางเศรษฐกิจ” อีกกลุ่ม ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปติดตามสถานการณ์ชีวิต ณ ปัจจุบันของกลุ่มคนในอาชีพนี้ ที่ฉายภาพชีวิตเกี่ยวกับ “โอกาส-ความฝัน” ของคนในอาชีพนี้…

’เมื่อก่อนเราไม่เคยมีตัวตนในสังคม ไม่มีสวัสดิการ หรือบางคนก็แทบไม่มีวันหยุด โดยจะมีวันหยุดได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเมตตาให้หยุดพักเท่านั้น“ เป็นการระบุจาก มาลี สอบเหล็ก ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ที่ฉายภาพชีวิตในอดีตของ “อาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน” โดยสะท้อนไว้ในบทความ “ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อแรงงานนอกระบบในประเทศไทย” ที่จัดทำโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ยอมรับ มองเห็นตัวตนของลูกจ้างทำงานบ้านมากขึ้น จากที่ต้องเผชิญความท้าทายและความเปราะบางในอาชีพมาตลอด อนึ่ง สำหรับ มาลี ตัวเธอเองก็ทำอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านมานานกว่า 20 ปี จนต่อมาได้มาเข้าร่วมเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านฯ เมื่อปี 2556 และได้รับเลือกให้เป็นประธานของเครือข่ายฯ ในปี 2560

ทั้งนี้ มาลี ยังได้สะท้อน “ภาพชีวิต” ของ “อาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน” ในบทความ จากประสบการณ์ตรงในฐานะคนที่อยู่ในอาชีพนี้ โดยบอกว่าอาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน หรือที่หลัง ๆ สังคมเรียกติดปากว่า “แม่บ้าน” เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้รับการสนใจจากสังคมอย่างจริงจังมากนัก ยิ่งมีวิกฤติโควิด-19 ชีวิตคนกลุ่มนี้ก็ยิ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหลาย ๆ คนต้องคอยตอบคำถามนายจ้างที่ว่า ’ไปไหนมา“ อยู่ตลอด เพราะ นายจ้างกลัวติดเชื้อโควิด-19 จนบางคนต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านนายจ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ เพราะบางคนก็มีครอบครัว โดยเธอเองเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ ทำให้เธอต้องลงทุนซื้อรถมอเตอร์ไซค์เพื่อขี่ไปทำงานที่บ้านนายจ้างแทนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อซื้อความสบายใจให้กับทางนายจ้าง แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในชีวิต และนอกจากนี้ มาลี ยังได้สะท้อน “สถานการณ์ชีวิต” ของคนในอาชีพนี้เอาไว้อีกว่า…

’กับบางคนที่มีนายจ้างเป็นชาวต่างชาตินั้น เมื่อเกิดกรณีที่นายจ้างชาวต่างชาติตัดสินใจย้ายกลับประเทศ ปัญหาชีวิตก็เกิดทันที เพราะการหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากอุปสรรคเรื่องของอายุแล้ว โควิด-19 ก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้นายจ้างไม่มั่นใจในความปลอดภัยที่จะจ้างลูกจ้างคนใหม่เข้าไปทำงานในบ้าน โดยเฉพาะในช่วงที่การฉีดวัคซีนของไทยยังไม่ทั่วถึงครอบคลุม เป็นอีกสถานการณ์ที่ มาลี สะท้อนไว้ ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ปี 2564

พร้อมทั้งยังได้ระบุอีกว่า แรงงานบางกลุ่ม เช่น แรงงานที่ทำงานในสถานบันเทิงกลางคืน ยังมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่กับ “อาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน” นั้น แทบจะไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย เนื่องจาก ถูกมองเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีตัวตน หนำซํ้าบางคนก็ไม่มีสมาร์ทโฟน และมีข้อจำกัดเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการลงทะเบียน ซึ่งจากบทเรียนในวิกฤติที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้าง แพลตฟอร์ม Homecare Thailand ขึ้นมา ที่ถึงแม้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็ทำให้ มาลี และรวมถึงคนที่อยู่ในอาชีพนี้ “ไม่เคว้งคว้าง-ไม่ไร้ตัวตน”

’สิ่งที่เราพยายามผลักดันตอนนี้ก็คือ ช่วยให้เพื่อน ๆ ของเราในอาชีพนี้ได้รู้จักสิทธิของตัวเอง เพราะปัจจุบันนี้แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน หรือกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการมีจรรยาบรรณที่ดีต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า…คนในอาชีพนี้จำนวนไม่น้อยไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีสิทธิตรงนี้“ เป็นความมุ่งมั่นของ มาลี ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านฯ ที่เน้นยํ้าเรื่องนี้ไว้ในบทความดังกล่าว

ขณะที่อีก “มุมสะท้อนน่าสนใจ” ของ “สถานการณ์ชีวิตลูกจ้างทำงานบ้านในไทย” ทาง ดร.บุญสม นํ้าสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันเฉพาะแค่ในส่วนของสมาชิกที่เข้าร่วมเครือข่ายที่มูลนิธิฯ ช่วยดูแลอยู่ ก็มีอยู่ประมาณกว่า 1,000 คน โดยมีทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา และมีชาวลาวบ้าง ซึ่งพื้นที่ที่ดูแลอยู่ก็มีกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับพื้นที่เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งทางมูลนิธิฯ พยายามยํ้าให้สังคมเกิดทัศนคติใหม่ ๆ เกี่ยวกับคนที่ทำอาชีพนี้ โดย ขอให้เรียกอาชีพนี้ว่า “ลูกจ้างทำงานบ้าน” แทนการเรียกว่า “แม่บ้าน หรือคนรับใช้” เพื่อต้องการทำให้เกิดการยอมรับว่าคนที่ทำอาชีพนี้ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เป็น “พลเมืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคมไทย” …ทาง ดร.บุญสม เลขาธิการมูลนิธิฯ ยํ้าเรื่องนี้ไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต”

กิจกรรมให้ความรู้โดยแกนนำกลุ่มลูกจ้างฯ

และยังได้ระบุว่า ที่ผ่านมาในอดีต หรือแม้แต่จนถึงวันนี้ “อาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน” เหมือนเป็นกลุ่มคนทางสังคมที่ “เข้าไม่ถึงสิทธิ” จนเป็น “แรงงานที่ตกหล่นของระบบ” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ข้อจำกัด” ในการเข้าถึงคนที่ทำงานกลุ่มนี้ เนื่องจากด้วยความที่คนกลุ่มนี้ทำงานในบ้านของนายจ้าง ดังนั้นจึงเป็นการยากที่ทางมูลนิธิฯ จะเข้าไปให้การดูแลได้ทั้งหมด ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ แรงงานที่ทำอาชีพนี้มักไม่ค่อยทราบถึง “สิทธิของตนเอง” เช่น บางคนทำงานโดยไม่มีวันหยุด ซํ้าชั่วโมงทำงานก็ยาวนานมากกว่าอาชีพอื่น โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้านที่อาศัยอยู่กับนายจ้าง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้สามารถมีวันหยุดได้ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน กับมีวันหยุดตามประเพณีได้ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี เป็นต้น

ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่พบเช่นกันคือเรื่องของ “ค่าจ้าง” โดยทาง ดร.บุญสม ขยายความว่า อาชีพนี้ดูเหมือนจะไม่มีการประกันค่าแรงขั้นตํ่า ทำให้ค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่ลูกจ้างทำงานบ้านจะได้รับนั้น จึงขึ้นอยู่กับความพอใจของนายจ้าง หรือผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ทางมูลนิธิฯ เองก็พยายามผลักดันให้เกิดข้อกำหนดเกี่ยวกับรายได้ขั้นตํ่า นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของ “สภาพการทำงาน” ที่พบว่า ลูกจ้างทำงานบ้านมักจะมีชั่วโมงทำงานหรือเวลาเลิกงานที่ไม่แน่นอน รวมถึงมักจะ “มีปัญหาสุขภาพ” จากการที่ต้องสัมผัสสารเคมีในการซักล้าง หรืออุบัติเหตุจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วย

’พวกนี้คือปัญหาพื้นฐานที่พบบ่อย ส่วนกรณีร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ถูกทำร้าย ถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศนั้น เราไม่รู้จริง ๆ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ เพราะส่องไฟเข้าไปไม่ถึง แต่ก็เคยมีคนที่เราทำงานด้วย มาเล่าให้ฟังว่า พอมาอบรม เขาถึงรู้ว่าพฤติกรรมที่เขาเจอมาคือการถูกลวนลาม ถูกคุกคามทางเพศ เพียงแต่เขาไม่รู้ ซึ่งกลุ่มนี้ที่พบมักเป็นลูกจ้างทำงานบ้านในกลุ่มของแรงงานต่างชาติ“ เลขาธิการมูลนิธิฯ เล่าให้ฟังถึงเคสปัญหาที่เกิดขึ้น และรวมถึง…

กิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้สมาชิก

’ช่วงโควิด-19 ระบาด ลูกจ้างทำงานบ้านก็ต้องเผชิญกับการลดชั่วโมงการทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องการลดความเสี่ยงจากการที่ลูกจ้างเหล่านี้ต้องเข้าไปทำงานบ้าน ซึ่งส่งผลให้รายได้ลดลง ในขณะที่ภาระงานที่ต้องรับผิดชอบกลับมีเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ เพราะแม้วันทำงานจะลด แต่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพราะต้องทำงานให้ได้เท่ากับช่วงปกติ ในขณะที่เวลาทำงานและค่าจ้างลดลง“ เป็นอีกส่วนจากการสะท้อน “สถานการณ์ชีวิต” ที่แรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ทั้งนี้ แหล่งข่าวคนเดิมยํ้าว่า แม้ความรับรู้ของสังคม แม้มุมมองที่มีต่อคนที่ทำอาชีพนี้จะดีมากขึ้น แต่… ’ในแง่ของระบบช่วยเหลือ กฎหมายคุ้มครองนั้น ยังคงมีอุปสรรคและข้อจำกัด ที่จำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้สังคม หรือแม้แต่คนที่ทำอาชีพนี้เข้าใจรู้สิทธิกันต่อไป“ ทาง ดร.บุญสม กล่าว

นี่เป็นบางส่วนของ “ภาพชีวิต” ของ “กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน” ที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้หยิบยกมานำเสนอเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้ โดยแรงงานเหล่านี้ก็ถือว่า มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยไม่แพ้แรงงานกลุ่มอื่น ๆ หรือคนในอาชีพอื่น ๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาแสงสปอตไลต์ฉายเข้าไม่ค่อยถึงแรงงานกลุ่มนี้ จนทำให้สังคมมองไม่ค่อยเห็นถึง “ความเปราะบางทางอาชีพ” ของแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งถ้าหากจะมี ระบบคุ้มครองดูแลช่วยเหลือที่ดี ให้กับแรงงานกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ก็น่าจะทำให้ ประเทศไทยได้ประโยชน์ มากขึ้นจากอีกหนึ่งกลุ่ม…

“พลเมืองทางเศรษฐกิจ…ที่ก็สำคัญ!!”.

แพลตฟอร์มอาชีพ ‘เสริมฐานชีวิต’

ดร.บุญสม น้ำสมบูรณ์

นอกจากจะพยายามรณรงค์เพื่อให้อาชีพ “ลูกจ้างทำงานบ้าน” เข้าใจ-เข้าถึง “สิทธิ” แล้ว ทาง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ก็ยังร่วมกับ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ทันยุคทันสมัยกับโลกที่เปลี่ยนไป อย่าง แพลตฟอร์ม “โฮมแคร์ไทยแลนด์ (Homecare Thailand)” ที่มีทั้ง เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้บริการ เช่น ทำความสะอาด นวดเพื่อสุขภาพ ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และสัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลเรื่องสิทธิลูกจ้างที่ให้บริการ ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการงานที่มีคุณภาพแก่ลูกค้า และเพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง รายได้ที่เป็นธรรม สำหรับคนทำงานบ้านมืออาชีพ ขณะที่ Mobile Application ชื่อ “Smart Domestic Workers” นี่ก็เป็นอีก ช่องทางแจ้งข่าวสารข้อมูลให้คนทำงานกลุ่มนี้ กับใช้เป็น “ช่องทางเพื่อการขอความช่วยเหลือ” โดยเฉพาะเมื่อประสบ “ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ : ภาพ