ออสเตรเลียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ แม้สิทธิการโหวตคือเสรีภาพที่ผู้คนทั่วโลกต้องการ แต่ชาวออสเตรเลียไม่มีทางเลือกในเรื่องนี้ เนื่องจากการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ปัจจุบัน ออสเตรเลียเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศ ที่มีกฎหมายการโหวตภาคบังคับ

การโหวตภาคบังคับคืออะไร ?

ตามข้อมูลของ คณะกรรมการการเลือกตั้งออสเตรเลีย (เออีซี) ระบุว่า สัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ลดลง เป็นแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการเริ่มใช้กฎหมายการโหวตภาคบังคับ ซึ่งสัดส่วนที่กล่าวมานั้น ลดจาก 71% ในการเลือกตั้งปี 2462 ลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 60% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2466

เพื่อเป็นการจัดการปัญหา ร่างกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา ที่ว่าด้วยการแปรญัตติพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง จึงถูกนำเข้าสู่วุฒิสภาในปี 2467 ซึ่งในเวลานั้น มันคือร่างกฎหมายฉบับที่ 3 ซึ่งผ่านมติเป็นกฎหมายได้ นับตั้งแต่ปี 2444

ด้วยผลลัพธ์ของกฎหมายดังกล่าว สัดส่วนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของการเลือกตั้งปี 2468 เพิ่มขึ้นมากเกิน 91% หลังจากนั้น แต่ละรัฐนำกฎหมายการโหวตภาคบังคับมาใช้ เริ่มจากรัฐวิกตอเรีย

เมื่อมีการแนะนำการลงทะเบียนและการออกเสียงที่การเลือกตั้งกลาง สำหรับชาวอะบอริจิน เมื่อปี 2492 มันยังเป็นการออกเสียงตามความสมัครใจ และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2527 ที่การเลือกตั้งเป็นข้อบังคับสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน

นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่เคยต่ำกว่า 90% นับตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายการโหวตภาคบังคับ เมื่อปี 2467

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่โหวต ?

ผู้ที่ไม่ลงคะแนนเลือกตั้ง จะได้รับหนังสือถามถึงเหตุผลที่ชอบธรรม มิเช่นนั้นต้องจ่ายค่าปรับ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 688 บาท) หากไม่จ่ายค่าปรับ หรือไม่สามารถให้เหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายได้ คดีความนี้จะถูกส่งไปยังศาล หากศาลพิพากษาว่ามีความผิด ค่าปรับอาจเพิ่มเป็นสูงถึง 180 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,188 บาท) และมีการบันทึกเป็นความผิดทางอาญาด้วย

การโต้แย้ง

เจสัน เคนท์ คอลัมนิสต์เสรีนิยม กล่าวว่า สิ่งนี้ยับยั้งเสรีภาพทางการเมือง และคุกคามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย “ประชาชนถูกตัดสินโทษจำคุกเพราะไม่ออกเสียง มันช่างน่ารังเกียจ มันห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตย เราไม่ใช่ประชาธิไตย หากเราไม่สามารถลงคะแนนเสียงอย่างเป็นประชาธิปไตย”

แต่ ดร.ปีเตอร์ เฉิน จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า การเข้าคูหาเลือกตั้งไม่ใช่ภาระใหญ่หลวง “ระบบนี้แสดงถึงความคาดหวังทางสังคม ที่อย่างน้อยที่สุด ทุกคนต้องมีส่วนร่วมทุก 2-3 ปี และนั่นเป็นสิ่งที่ดี”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES