สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ว่า เมื่อปีที่แล้ว ป่าฝนเขตร้อนมีร่องรอยขนาดใหญ่จากการเผาและตัดโค่นสำหรับการปศุสัตว์และการเกษตร ซึ่งนำโดยการทำลายป่าในบราซิล นักวิจัยกล่าวและเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้ยากต่อการฟื้นฟูป่าที่เสียไป

พื้นที่ต้นไม้ปกคลุมราว 11.1 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 27.5 ล้านเอเคอร์) ถูกทำลายทั่วเขตร้อนในปี 2564 โดยพื้นที่ 3.75 ล้านเฮกตาร์จากจำนวนนั้นเป็นป่าไม้ปฐมภูมิ ตามรายงานประจำปีของเว็บแอพพลิเคชั่น Global Forest Watch, ดับเบิลยูอาร์ไอ และมหาวิทยาลัยแมริแลนด์

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเท่ากับสนามฟุตบอล 10 แห่ง ภายในเวลาเพียง 1 นาที และมันเกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งปี” ร็อด เทย์เลอร์ ผู้นำแผนป่าไม้ของดับเบิลยูอาร์ไอ กล่าว

นักวิจัยคำนวณว่า การสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิเขตร้อนเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 2.5 กิกะตัน สู่ชั้นบรรยากาศ เทียบเท่าการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรายปีของอินเดีย

จากผลรวมการสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิเขตร้อนในปี 2564 สัดส่วนมากกว่า 40% อยู่ในประเทศบราซิล ที่ซึ่งป่าไม้ 1.5 ล้านเฮกตาร์ ถูกโค่นหรือเผาทำลาย

ตามมาด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ซึ่งพื้นที่ป่าหายไปเกือบ 500,000 เฮกตาร์ ขณะที่การทำลายป่าของประเทศโบลิเวีย อยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อปี 2544 ที่ราว 300,000 เฮกตาร์

แม้รายงานล่าสุดแสดงให้เห็นการลดลงโดยรวมเล็กน้อยของการสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิเขตร้อนในปี 2564 ที่ 11% จากปีก่อนหน้า นักวิจัยกล่าวว่า อัตรายังคงสูงอย่างไม่ยั่งยืน

นอกเหนือจากเขตร้อน รายงานยังระบุว่า ป่าเขตหนาวทางซีกโลกเหนือประสบกับการสูญเสียพื้นที่ป่าครั้งใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษ

ฤดูไฟป่าที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้รัสเซียประเทศเดียวเสียพื้นที่ป่าไปถึง 6.5 ล้านเฮกตาร์ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ นักวิจัยยังเตือนถึง “วงจรสะท้อนกลับ” ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการเผาป่าที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงเหตุอัคคีภัยตามมา

ข้อมูลของปีนี้ออกมาหลังจากที่ผู้นำ 141 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศ หรือซีโอพี ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ เพื่อ “หยุดยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียป่าไม้ภายในปี 2573” ที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปีที่แล้ว

เนื่องด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมากของปี 2564 เกิดขึ้นก่อนข้อตกลง ดับเบิลยูอาร์ไอ กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุดอาจมองว่าเป็น “พื้นฐาน” สำหรับการประเมินประสิทธิผลได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า จะต้องมีอัตราการสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิที่ลดลงอย่างสม่ำเสมอและมีนัยสำคัญทุกปีในช่วงทศวรรษที่เหลือ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

“ลำพังแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาป่าไม้ที่พวกเรามีอยู่ก็ทำได้ยากขึ้นแล้ว” ฟรานเซส ซีมัวร์ จากดับเบิลยูอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า สิ่งนี้แสดงถึงความจำเป็นของการลดมลพิษก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ป่าฝนแอมะซอน อาจใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยคิดว่าเป็น “จุดพลิกผัน” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศทุ่งหญ้าสะวันนาแบบย้อนคืนไม่ได้ และอาจเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ

บราซิล ซึ่งครอบครองพื้นที่ป่าไม้ปฐมภูมิเขตร้อนที่เหลืออยู่เกือบ 1 ใน 3 ของโลก เกิดการทำลายป่าของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การสูญเสียที่ไม่ได้เกิดจากไฟป่า ที่ดับเบิลยูอาร์ไอกล่าวว่า มักจะเกี่ยวโยงกับการถางพื้นที่สำหรับการเกษตร เพิ่มขึ้น 9% เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับปี 2563

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ป่าแอมะซอนตะวันตก รายงานระบุว่า หลายรัฐสำคัญพบว่า การสูญเสียที่ไม่ได้เกิดจากไฟป่า เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% จากปี 2563 ถึง 2564

“เรารู้อยู่แล้วว่าการสูญเสียเช่นนั้นคือภัยพิบัติต่อสถาพภูมิอากาศ มันเป็นมหันตภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มันเป็นหายนะต่อชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น” ซีมัวร์ กล่าวและเน้นย้ำถึงงานวิจัยล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่าป่าไม้ช่วยทำให้อากาศเย็นลง เช่นเดียวกันกับการช่วยกักเก็บคาร์บอน

ในทางตรงกันข้าม ในนโยบายรัฐบาลอินโดนีเซียและการดำเนินการของหน่วยงานภาคเอกชน ช่วยลดการสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิมากถึง 25% ในปีที่แล้ว จากปี 2563 นับว่าเป็นการทำลายป่าที่ช้าลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงมากมาก่อนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูอาร์ไอ เตือนว่า การสิ้นสุดของการหยุดปลูกปาล์มน้ำมันใหม่ชั่วคราว รวมกับราคาปาล์มน้ำมันที่สูงสุดในรอบ 40 ปี อาจส่งผลต่อความสำเร็จล่าสุดของประเทศได้

“มันชัดเจนว่า พวกเราไม่จริงจังมากพอที่จะกระตุ้นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งให้หยุดการสูญเสียป่า เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าเขตร้อนอันกว้างขวางที่ยังเหลืออยู่ในโลก” ซีมัวร์ กล่าว

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES