เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันช่อดอกกัญชา กัญชงจัดเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งการกระทำผิดกฎหมายคือการเร่ขาย จำหน่าย หรือให้ แจกโดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดกรมฯ ได้มีการออกระเบียบกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2567 ดังนั้น ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวเกี่ยวกับช่อดอกกัญชา กัญชง สามารถแจ้งจับต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งตามระเบียบนี้ เมื่อมีการดำเนินคดีเสร็จสิ้นจะมีการจ่ายค่าสินบนนำจับและเงินรางวัล

“ไม่มีอยู่แล้วร้านกัญชาที่ได้รับอนุญาตถูกต้องแล้วจะมาวางเร่ขาย เพราะผู้ที่ได้รับอนุญาตจำหน่ายสมุนไพรควบคุม จะต้องดำเนินการตามมาตรการที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ กำหนด จะต้องมีสถานที่จำหน่ายชัดเจน” นพ.เทวัญ กล่าว

นพ.เทวัญ กล่าวด้วยว่า การที่กรมอออกระเบียบฯ นี้ จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น เพราะจะมีคนชี้ช่องจำนวนมากขึ้น และได้ประโยชน์จากการชี้ช่อง ยิ่งถ้า 1 คนแจ้งเบาะแสคนทำผิดหลายคน ก็จะได้สินบนนำจับมาก ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ไปจับผู้กระทำผิดก็จะได้ทำงานอย่างแข็งขัน เหมือนเป็นค่าเสี่ยงภัย โดยตามระเบียบฯ ฉบับนี้ เงินสินบน คือเงินที่ราชการจ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ และเงินรางวัล คือ เงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับ ซึ่งผู้แจ้งความนำจับอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคน ซึ่งนำเบาะแสมาแจ้งแก่หน่วยงานของรัฐ จนสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้

ทั้งนี้  สามารถแจ้งความนำจับ ได้ที่ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือข้าราชการตำแหน่งนิติกร กรมการแพทย์แผนไทยฯ, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยฯ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสามารถรับแจ้งในกรณีความผิดเกิดขึ้นในจังหวัด โดยในการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลนั้น จะได้มาจากเงินค่าปรับที่มีการหักไว้ตามระเบียบก่อนที่จะนำส่งคลัง โดยเงินที่หักไว้ จำนวนเงิน 3 ใน 4 ส่วนให้นำจ่ายเป็นเงินสินบน 1 ส่วนและเงินรางวัล 2 ส่วน การจ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับ จะจ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับในคดีความผิดที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมแก่ผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้เป็นผลสำเร็จ หรือเมื่อตรวจสอบพบความผิดและดำเนินการจนได้มาซึ่งค่าปรับโดยไม่ได้มีการจับกุม.