เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 67 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 ต.ค. 67  ซึ่งวาระการประชุม ในวาระที่ 4.1 เรื่อง รายงานการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยในรายงานดังกล่าวมีประเด็นที่กรรมาธิการมีความเห็นแตกต่างกันในคดีความผิดตาม มาตรา 112 ว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ มีความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 ในขณะที่กรรมาธิการที่มาจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ควรมีการนิรโทษกรรมคดีความผิดตาม มาตรา 112 ซึ่งล่าสุดวันที่ 26 ก.ย. นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี  โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงยืนยันมติพรรคไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีความผิด ตามมาตรา 112 ในทุกกรณี

“ผมรู้สึกแปลกใจ เหตุใดการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ จึงไม่ใช้เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ในคณะกรรมาธิการฯ หรืออย่างน้อยใช้เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ แล้วเสนอประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ โดยเสียงที่เป็นเอกฉันท์ หรือจะเป็นเสียงข้างมากก็ตามเสนอเป็นข้อสังเกตให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา การเสนอข้อสังเกตแบบปลายเปิด ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จะหาข้อยุติได้ยากอย่างยิ่ง มิเช่นนั้น สภาจะมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ไปศึกษาเพื่อจัดทำรายงานฯ ทำไม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีความผิดอันยอมความมิได้ เพราะเป็นการกระทำละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์พระประมุขของชาติ อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ตนจึงขอเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วยความสุจริตใจว่า รัฐธรรมนูญ  มาตรา 6 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”  ดังนั้น รัฐบาลควรปกป้องสถาบันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในต่างประเทศล้วนมีกฎหมายปกป้องประมุขหรือผู้นำประเทศกันทั้งสิ้น การถอนรายงานการศึกษาดังกล่าวไปจัดทำใหม่ให้ได้ข้อยุติในชั้นคณะกรรมาธิการฯ แล้วมานำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายชวลิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คดีความผิดตามมาตรา 112 มิใช่ไม่มีทางออกต่อการแก้ปัญหา พรรคไทยสร้างไทยเคยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว สรุปว่า  หากผู้กระทำผิด หรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้สำนึกในการกระทำก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษ หรือขอพระราชทานอภัย แล้วแต่กรณีว่า มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือยัง หากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สภาก็ควรเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยได้ เพราะคดีความผิดตาม มาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความมิได้

นายชวลิต กล่าวว่า  นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่พรรคไทยสร้างไทยเคยเสนอทางออกป้องกันการกลั่นแกล้งร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีความผิดตามมาตรา 112 ว่า ให้แก้กฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนของการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่อาจประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง นักวิชาการ ก็จะสร้างความมั่นใจกับผู้ถูกกล่าวหาว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้งในการดำเนินคดี

นายชวลิต กล่าวว่า ถึงแม้พรรคไทยสร้างไทยจะไม่มีกรรมาธิการฯ ในคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขอแสดงความเห็นด้วยความสุจริตใจเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง

นายชวลิต กล่าวว่า นอกจากนี้  ขอเสนอแนะรัฐบาลให้นำรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งได้เสนอข้อสังเกตให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมือง  คดีอาญาที่มีมูลเหตุหรือมีแรงจูงใจทางการเมือง ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต และไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 ยกเว้นคดีทุจริตนั้นมีกระบวนการพิจารณาไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา

นายชวลิต  กล่าวว่า จากมติสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 ดังกล่าว พรรคการเมืองทุกพรรคในขณะนั้นก็ยังอยู่ในสภาชุดนี้ทุกพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  ดังนั้น มติของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 เท่ากับเป็นมติที่ “ปิดปาก” พรรคการเมืองที่เคยลงมติในประเด็นความผิดตาม  มาตรา 112 ไปโดยปริยาย มีเพียงการหาทางออกต่อการแก้ไขปัญหาคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งสามารถหาทางออกได้หากผู้กระทำผิดรู้สำนึกในการกระทำนั้น และหาทางออกตามที่ได้เสนอแนะไว้ข้างต้น.