ต่อมลูกหมาก เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย ทำหน้าที่หลักในการสร้างสารบางชนิดมาผสมกับสเปิร์มช่วยให้สเปิร์มมีความแข็งแรงและไม่มีภาวะเป็นกรด ซึ่งต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากที่อายุ 20 ปี เมื่ออายุ 45 ปีจะเริ่มเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ โรคต่อมลูกหมากโต

อ. นพ.ชินเขต เกษสุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาให้ความรู้ว่า  โรคต่อมลูกหมากโต คือ ? เป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากจะมีขนาดใหญ่เกินกว่าเกณฑ์ปกติและไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ซึ่งจะพบในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และกว่าร้อยละ 80 พบในผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ – โรคต่อมลูกหมากโต โรคที่ผู้ชายไม่ควรละเลย

อาการ โรคต่อมลูกหมากโตมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้  1.อาการปัสสาวะลำบาก เป็นอาการที่เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะจะต้องมีการเบ่ง ปัสสาวะติดขัด หรือเมื่อปัสสาวะจะหยดเป็นทาง2.อาการปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดปัสสาวะถี่กว่าปกติ จากเดิมจะต้องปัสสาวะทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตจะปวดปัสสาวะทุกชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการปวดจะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที และอาจมีอาการปวดปัสสาวะช่วงกลางคืนจนรบกวนการพักผ่อน  ทั้งนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปัสสาวะบ่อย ได้ที่ – ปัสสาวะบ่อยเกิดจากอะไร

ภาวะแทรกซ้อนของ โรคต่อมลูกหมากโต หากมีอาการของโรคต่อมลูกหมากโต และไม่เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ต่อมลูกหมากจะมีขนาดใหญ่จนขวางระบบทางเดินปัสสาวะและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • ปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะเป็นลิ่มเลือด
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเรื้อรัง

วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโตมีวิธีการรักษาหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ขนาดของต่อมลูกหมาก และปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ ภาวะแทรกซ้อน หรือโรคประจำตัว

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากอาการไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่มีอาการแสดงออกมา ทางแพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดการดื่มน้ำในช่วงกลางคืน งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น

รักษาโดยการใช้ยา แพทย์จะมีการประเมินอาการเบื้องต้นก่อนหากผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนและอาการของโรคไม่ได้รุนแรงมากแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาเพื่อช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก

ผ่าตัด วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดนำเอาต่อมลูกหมากบางส่วนที่ขวางทางเดินปัสสาวะออก โดยแพทย์จะใช้กล้องในการส่องผ่านท่อปัสสาวะ

โรคต่อมลูกหมากโตในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการป้องกันและสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัด หากผู้ป่วยมีอาการที่เสี่ยงหรือเป็นผู้สูงอายุควรเข้ามาตรวจหาโรคเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมาในภายหลัง.