เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนพดล ธรรมวัฒนะ ผู้รับมอบอำนาจ น.ส.คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ พร้อมด้วยทีมทนายความ เดินทางมายื่นฟ้อง น.ส.ณฤมล หรือ นฤมล ธรรมวัฒนะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมกลฉ้อฉล

โดยภายหลังยื่นฟ้องนายนพดล กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะผู้รับมอบอํานาจจากน้องสาว น.ส.คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ ให้มาเป็นโจทก์ฟ้องนางนฤมล ฐานความผิดก็คือเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลคดีนี้เกี่ยวข้องกับตลาดยิ่งเจริญ สำหรับ น.ส.นฤมลได้มีการวางแผนออกอุบายแล้วเพื่อที่จะให้ น.ส.คนึงนิตย์ โอนหุ้นตลาดยิ่งเจริญ ไปให้กับเขาจำนวนหุ้นไม่ได้มาก เพียงหุ้นเดียว แต่คำว่าหุ้นเดียวมันมีผลต่อการบริหารงานทั้งหมดทําให้ น.ส.คนึงนิตย์เสียอํานาจในการบริหารแล้วก็ น.ส.นฤมลกระทําการเองทุกอย่างโดยอําเภอใจ

ส่วนวิธีการคือช่วงตอนที่เขาซื้อหุ้นจากกลุ่มนายปริญญาเขาก็จะมีหุ้นเพิ่มขึ้น แล้วหุ้นที่ซื้อมามันก็จะต้องมาเฉลี่ยแต่ท้ายที่สุดจะเหลือผู้ถือหุ้นเพียงสองคนก็จะต้องเหลือเท่ากันแต่ว่า น.ส.นฤมลก็ไปหลอก น.ส.คนึงนิตย์ให้หลงเชื่อว่ามีหุ้นมากกว่าเขาหนึ่งหุ้นและจะต้องโอนคืนให้เขา น.ส.คนึงนิตย์ก็เชื่อใจจากการเป็นพี่เป็นน้องกันก็โอน ซึ่งเรื่องนี้มีบันทึกเป็นรายงานในศาลด้วย ซึ่งพอโอนไปก็กลายเป็น ฝั่ง น.ส.นฤมลมีหุ้นมากกว่า แล้วก็ได้สิทธิในการบริหารตลาด เมื่อโหวตออกเสียงลงคะแนนกันเมื่อใด น.ส.คนึงนิตย์ก็แพ้ เพราะหนึ่งหุ้นที่โอนไปปุ๊บมันก็เลยกลายเป็นต่างกันสองหุ้น

วันนี้ที่มาคือยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมกลฉ้อฉล หลักฐานเอกสารเราไว้พร้อม คดีนี้ความเกี่ยวโยงกับคดีที่ก่อนหน้านี้มายื่นฟ้องที่ศาลแพ่งไปแล้ว คดีนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาในข้อบังคับข้อกําหนดในพินัยกรรม คดีนั้นจะใหญ่กว่า แต่คดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการตลาดซึ่งหนึ่งหุ้นที่โอนไป ประมาณค่าไม่ได้เพราะเกิดความเสียหาย การที่มาฟ้องคดีก็คิดว่าอยากจะทําให้มันถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ในระยะยาว ให้ศาลมีคําวินิจฉัยชี้ถูกชี้ผิดไปเลย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะกระทําซ้ำไม่ให้มันเกิดขึ้น โดยส่วนตัวเคารพคําสั่งศาลเพราะเมื่อศาลมีคําพิพากษามาก็ต้องเชื่อฟังกันทุกคน

น.ส.สุกัญญา ศาสนปิติ ทนายความโจทก์ กล่าวต่อว่า ศาลนัดชี้ สองสถานในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 13.30 น. ซึ่งเราเตรียมเอกสารไว้เรียบร้อยในวันนัดชี้สองสถาน ก็มาคุยกันก่อนว่าจะยังไงแต่ถ้าสมมุติว่าคุยกันไม่ได้หรือตกลงกันไม่ได้ก็ตามขั้นตอนของกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ในบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด โจทก์มีจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 2,211,517 หุ้น จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด และจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันกับโจทก์กระทำการแทนบริษัทฯ อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด โดย ณ ปัจจุบัน จำเลยกับบุตรมีหุ้นรวมกันจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 2,580,000

จำเลยแยกจำนวนหุ้นของตนเองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จำเลยใส่ไว้ในชื่อของจำเลย และบางส่วนจำเลยใส่ไว้ในชื่อของบุตรสาวจำเลย

บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ก่อตั้งขึ้นตามคำสั่งในพินัยกรรมของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้ตาย (เจ้ามรดก) การตั้งบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ขึ้น เป็นการจัดการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนางสุวพีร์ ผู้ตาย (เจ้ามรดก) ซึ่งถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในพินัยกรรม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ก็คือการจัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ข้อ 3 ที่ว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฝั่งคลองถนน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกว่า

ตลาดยิ่งเจริญ เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ให้ผู้จัดการมรดกโอนใส่ชื่อไว้ และจัดการปลูกสร้างดัดแปลงแล้วเก็บผลประโยชน์ไว้เป็นกองกลาง เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามพินัยกรรมอันดับที่ 1-9 เมื่อถึงเวลาอันสมควร ให้ผู้จัดการมรดกจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัดนั้นชื่อว่า บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า ตลาดยิ่งเจริญ เข้าเป็นทุนของ บริษัท และให้ทายาทตามพินัยกรรม อันดับ 1-9 เป็นผู้ถือหุ้น ห้ามโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ใดละเมิดข้อห้ามให้ตกเป็นของผู้ถือหุ้นที่ไม่ละเมิดข้อห้ามโอน ตามส่วนเฉลี่ย เว้นแต่ผู้ถือหุ้นคนใดจะขายหุ้นจะต้องขายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นทายาทด้วยกันเท่านั้นในราคาตลาด แต่ถ้าหากว่าทายาทผู้ถือหุ้นไม่ยอมรับซื้อ โอนหุ้นให้บริษัทสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เป็นผู้รับซื้อหุ้นดังกล่าว โจทก์, จำเลยและพี่น้องคนอื่น ๆ รวม 7 คน ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ มีกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 7 คน

ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมข้อ แต่ไม่มีนางสาวนัยนา ธรรมวัฒนะ ทายาทลำดับที่ 7 กับ นางสาวนงนุช ธรรมวัฒนะ ทายาทลำดับที่ 9 เพราะมีพินัยกรรมตัดไม่ให้รับมรดก ซึ่งในขณะนั้นการแบ่งผลประโยชน์หรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่ได้พิจารณาจากจำนวนหุ้นที่ทายาทถือครอง แต่จะแบ่งผลประโยชน์หรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยเท่าๆ กัน ดังนั้นการที่จำเลย และนายปริญญา ถือครองหุ้นมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ จึงเป็นเพียงการถือแทนในจำนวนหุ้นที่แบ่งไม่ได้ ไว้แทนพี่น้องคนอื่นๆ ในการแบ่งผลประโยชน์ หรือเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นราย นายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ และนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ได้ถึงแก่กรรม บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อของผู้ถือหุ้นของบริษัทตามคำร้องขอของผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นที่ถึงแก่กรรม จึงมีผู้ถือหุ้น และเปลี่ยนแเปลงผู้ถือหุ้นขึ้นอีกหลายครั้ง

ในวันที่ 9 ก.พ. 2558 จำเลยฉ้อฉลโจทก์ แสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงโจทก์หลงเชื่อ และสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จำเลยแสดงข้อความที่ผิดต่อความจริง เพื่อหลอกให้โจทก์หลงเชื่อ โจทก์หลงเชื่อจึงทำนิติกรรมโอนหุ้นของตนเอง จำนวน 1 หุ้นให้แก่จำเลย จำเลยได้วางแผนนออกอุบายลวงโจทก์โดยอาศัยความเชื่อใจของโจทก์และในฐานะความเป็นพี่น้องของโจทก์ โดยในวันดังกล่าวเป็นวันที่ศาลได้นัดพร้อมเพื่อชำระราคาค่าซื้อกิจการและหุ้น ตามที่โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ศาลแพ่ง ในคดี เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นระหว่าง ทายาท ในรายงานกระบวนพิจารณาจึงลงข้อมูลข้อเท็จจริงข้อตกลงระหว่างกันของคู่ความไว้อย่างชัดเจน โดยรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาล ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับ ตราสารการโอนหุ้น สัดส่วน

การโอนหุ้น เอกสารการโอนหุ้น ระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีที่ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา โดยสัดส่วนของหุ้นที่ระบุในตราสารการโอนหุ้นเดิมทนายโจทก์ขอใช้เอกสารที่โจทก์จัดเตรียมมา แต่ทนาย จำเลยทั้งสาม ขอใช้เอกสารด้านจำเลยที่ได้จัดทำสัญญาโอนหุ้นเรื่องสัดส่วนในเรื่องของการโอนหุ้น ปฏิบัติตามบันทึกแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความ ทนายโจทก์จึงยอมให้ใช้เอกสารฝ่ายของทนายจำเลยทั้งสาม ที่จัดเตรียมมา และศาลได้จดรายงานกระบวนเพิ่มซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นคดีที่โจทก์และจำเลยในคดีฟ้องร้องกันมา แต่เกี่ยวกับจำนวนหุ้นของโจทก์ทั้งสองเสมือนเป็นข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสองคุยกัน และแถลงให้ศาลจดแทรกเข้าไปในเนื้อหา ต่อจากข้อความเบื้องต้นว่า ส่วน สัดส่วนหุ้นของโจทก์ที่ 1 ที่มากกว่าโจทก์ที่ 2 อยู่ หนึ่ง หุ้นนั้น โจทก์ที่ 1 และ 2 ตกลง เป็นการภายในว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยโจทก์ที่ 1 จะโอนหุ้น 1 หุ้นให้โจทก์ที่ 2 และในวันที่ 17 มี.ค. 2558 โจทก์จึงโอนหุ้นของตัวเอง จำนวน 1 หุ้นให้กับจำเลยจึงทำให้จำเลยมีหุ้นมากกว่าโจทก์ จากเดิมที่โจทก์จะมีหุ้นมากกว่าจำเลย เพราะจำเลยโอนหุ้นของตัวเองให้แก่บุตรสาว จึงมีผลทำให้จำเลยมีหุ้นมากกว่าโจทก์ 2 หุ้น

ซึ่งจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่าจำนวนหุ้นของโจทก์ มีจำนวนหุ้นมากกว่าหุ้นของจำเลย จำนวน 1 หุ้น ซึ่งโจทก์ก็สับสนบวกกับความวุ่นวายในห้องพิจารณาคดี และความจำเก่าของโจทก์ที่จำได้ว่าจำเลยมีหุ้นมากกว่าโจทก์จำนวน 1 หุ้น ในช่วงเพิ่มทุนจำนวนหุ้นที่หารแล้วไม่ลงตัว จำนวน 2 หุ้น ซึ่งได้ใส่ไว้ในชื่อของจำเลยและนายปริญญา โจทก์ลืมคิดว่านายปริญญาก็ถือหุ้นเกินอยู่ 1 หุ้น ถ้าโจทก์รับโอนหุ้นมาจากนายปริญญา ก็จะทำให้โจทก์และจำเลยมีเศษหุ้นที่ติดอยู่ในนามของนายปริญญา และเมื่อแบ่งหารสำเร็จ ก็จะเหลือโจทก์และจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิรับหุ้นที่โอนขายมาจากนายปริญญาและพวก จำเลยรู้ว่าถ้าหารมาแล้ว โจทก์และจำเลยจะมีหุ้นบริษัทเท่ากันแน่นอน จำเลยจึงต้องออกอุบายให้โจทก์โอนหุ้นให้จำเลย 1 หุ้น ก็เพื่อเจตนาให้โจทก์มีหุ้นน้อยกว่าจำเลย จำเลยจึงออกอุบายว่าหุ้น ของโจทก์มีมากกว่า 1 หุ้น เพราะหุ้นของจำเลยอยู่ในหุ้นของโจทก์ 1 หุ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่โจทก์ก็หลงเชื่อ เพราะความจริงสัดส่วนของโจทก์และจำเลยมีเท่ากัน โจทก์จึงโอนหุ้นให้จำเลยอันมีผลทำให้ให้โจทก์มีหุ้นน้อยกว่าจำเลยกับนางกัญจนิดา ตันติสุนทร จำนวน 2 หุ้นอันมีผลต่อการบริหารงานและการใช้สิทธิออกเสียงต่างๆ หรือเพื่อคานอำนาจ หลังจากที่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์โอนหุ้นให้จำเลย 1 หุ้นแล้ว ทำให้โจทก์ได้รับเป็นการภายในว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยโจทก์ที่ 1 จะโอนหุ้น 1 หุ้นให้โจทก์ที่ 2

หลังจากที่จำเลยหลอกลวงให้โจทก์โอนหุ้นให้จำเลย 1 หุ้นแล้ว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมากเพราะโจทก์เสียอำนาจไม่สามารถคานอำนาจในการโหวตออกเสียงลงคะแนนในกิจการการต่าง ๆ ของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด จำเลยกระทำการต่างๆ ในบริษัทฯ ตามอำเภอใจ เพราะมีอำนาจในมือ จำเลยใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ และในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ ที่มีคะแนนเสียงมากกว่า 2 หุ้น จำเลยใช้อำนาจหน้าที่แต่งตั้งกรรมการเข้ามาใหม่ 3 คน ซึ่งล้วนเป็นบุตรของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยใช้อำนาจหน้าที่โดยการโหวตเสียงเอานายแทนทอง ธรรมวัฒนะ ออกจากการเป็นกรรมการ และโจทก์ไม่สามารถคานอำนาจที่จะช่วยนายแทนทองได้ โจทก์เคยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ นายแทนทอง ธรรมวัฒนะเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทฯ มติที่ประชุมกรรมการก็มีเสียงข้างมาก 3 ต่อ 1 เสียง ไม่อนุมัติให้นายแทนทองเข้าเป็นกรรมการบริษัทฯ

โจทก์อดทน และเจ็บช้ำน้ำใจมาโดยตลอดคิดแต่ว่าเป็นเพราะโจทก์ที่มีจำนวนหุ้นน้อยกว่าจำเลยจึงทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารซึ่งเป็นทั้งกรรมการผู้มีอำนาจ และเป็นผู้ถือหุ้นดำเนินการอย่างใดๆ ได้ โจทก์รู้สึกเบื่อและท้อแท้กับอำนาจในการบริหารงานของจำเลยประกอบกับโจทก์เองก็มีปัญหาสุขภาพ โจทก์จึงได้แจ้งต่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ว่าโจทก์จะโอนหุ้นให้บุคคลทั้งสอง เพื่อให้บุคคลทั้งสองกลับมามีอำนาจช่วยบริหารงานในบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงไปตรวจสอบบัญชีผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เพื่อจะมาทำการตรวจสอบเลขที่หุ้นทั้งหมดของโจทก์ ทั้งหุ้นเก่าและหุ้นใหม่ที่โจทก์ถือครอง เพื่อทำการแบ่งให้แก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ตามเจตนารมณ์ของโจทก์ เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เรียกข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์มาตรวจสอบจึงพบว่ามีรายการโอนหุ้น จำนวน 1 หุ้น ที่โจทก์โอนให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงสอบถามโจทก์ว่าเหตุใดจึงไปโอนหุ้นให้จำเลย 1 หุ้น โจทก์ก็เล่าตามความจริงว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีศาลแพ่ง และจำเลยแจ้งว่าโจทก์มีหุ้นมากกว่าจ๋าเลย 1 หุ้นให้โอนคืนจำเลย และจำเลยยังให้ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ว่า “ส่วนสัดส่วนหุ้นของโจทก์ที่ 1 มากกว่าโจทก์ที่ 2 อยู่ หนึ่ง หุ้น โจทก์ที่ 1, 2 ตกลงเป็นการภายในว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังโดยโจทก์ที่ 1 จะโอนหุ้น 1 หุ้นให้โจทก์ที่ 2

เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบข้อเท็จจริง จึงตรวจสอบจำนวนหุ้นอย่างละเอียดและพบว่า จำนวนหุ้นของโจทก์ และจำเลยในช่วงที่ 9 ก.พ. 2558 จำนวนหุ้นของโจทก์ และจำเลย มีจำนวนเท่ากัน แต่ก็มีบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา ที่จำเลยให้ศาลจดในรายงานกระบวนเพิ่มเติมว่า “ส่วนสัดส่วนหุ้นของโจทก์ที่ 1 มากกว่าโจทก์ที่ 2 อยู่ หนึ่งหุ้น โจทก์ที่ 1, 2 ตกลงเป็นการภายในว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังโดยโจทก์ที่ 1 จะโอนหุ้นให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ และในวันที่ 25 มิ.ย. 67 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจำเลย เพื่อให้ดำเนินการโอนหุ้นให้แก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ แต่จำเลยไม่ดำเนินการให้ ในส่วนนี้ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.