สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่า ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2489-2501 สหรัฐได้จุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์ 67 ลูก บนหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว สหรัฐได้รับมอบอำนาจบริหารหมู่เกาะแห่งนี้จากยูเอ็น

ประธานาธิบดีฮิลดา ไฮน์ ผู้นำหมู่เกาะมาร์แชลล์ ระบุว่า นับเป็น “เป็นครั้งเดียว” ที่ยูเอ็นรับรองการจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย “เราแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่ยูเอ็นยังคงติดค้าง การผ่านมติขอโทษหมู่เกาะมาร์แชลล์ อย่างเป็นทางการ กรณีไม่รับฟังคำร้องขอของประชาชนบนเกาะ” เธอกล่าวในถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

ไฮน์ย้ำว่า ประชาชนยื่นคำร้องคัดค้านมติรับรองสถานะการเป็น “ดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ” หลังยูเอ็นมอบหมายให้สหรัฐ มีอำนาจบริหารหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งอยู่ในภาวะทรัสตี เมื่อปี 2490 

แม้สหรัฐจะมอบเงินชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,415 ล้านบาท) หากเทียบกับอัตราเงินในปัจจุบัน แต่การทดสอบดังกล่าว ได้ทิ้ง “มรดกแห่งความตาย, ความเจ็บป่วย และการปนเปื้อน” ที่ยังคงอยู่ และส่งผลกระทบจากรุ่นสู่รุ่น

ในปี 2497 ชาวเกาะมาร์แชลล์หลายพันคนตกอยู่ใต้เมฆกัมมันตภาพรังสี จากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ “แคสเซิลบราโว” ของกองทัพสหรัฐ โดยรังสีดังกล่าว เทียบเท่าการรับรังสีจาก “ระเบิดในฮิโรชิมา 1.6 นัดต่อวัน เป็นเวลา 12 ปี” ผู้นำหมู่เกาะมาร์แชลล์ กล่าว

นอกจากนั้น เศษซากจากการทดสอบที่ปนเปื้อนหลายตัน ถูกทิ้งลง “โดมกักสารพิษ” บนแนวปะการังเอเนเวตัก และปิดทับด้วยคอนกรีตที่แตกร้าว ส่วนผู้คนจากเกาะบิดินีเอเนเวตัก, รองเกแลป และอูทริก ต้องย้ายถิ่นฐานเพราะการปนเปื้อน และยังไม่สามารถกลับบ้านได้จนถึงปัจจุบัน

ไฮน์ย้ำว่า การทดสอบสร้างบาดแผล, ทำให้หลายชุมชนต้องลี้ภัย และมีค่าเสียหายอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังไม่ได้รับการชดเชย ขณะที่ประชาชนรุ่นเยาว์ รุ่นปัจจุบัน และในอนาคต ต้องรับภาระทางสังคมและสิ่งแวดล้อม.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES