เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานเปิดแพรป้าย “อนุสรณ์เรือของพ่อ เรือต.99 ” ในโครงการปรับภูมิทัศน์ประตูหน้าค่าย หน่วยกำลังรบหลักของกองทัพเรือ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าววัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฯ พร้อมนำกำลังพล และชมรมภริยาทหารเรือ เข้าร่วมในพิธีที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ และร่วมประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล

‘กองทัพเรือ’ อนุรักษ์เชิดชู ‘เรือ ต.99’ เตรียมเคลื่อนย้ายไว้หน้าค่ายกองเรือยุทธการ

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้เหตุผลว่า การที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเรือรบจำลอง ให้กลายเป็นสถานที่อนุรักษ์เชิดชูชุดเรือหลวงของพ่อ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 เป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัด กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 9 ม.ค.2531 ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 ปฏิบัติภารกิจในท้องทะเลยาวนานถึง 34 ปี ถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวงที่ต่อขึ้นใช้เองในราชการของกองทัพเรือไทย โดยกรมอู่ทหารเรือ ในช่วงปีพุทธศักราช 2511 – 2530 อันประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91 – ต.99 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการต่อเรือด้วยตนเอง ประหยัดงบประมาณ รวมถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาเรือรบที่ทันสมัย เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจการรักษาอธิปไตย และปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

ดังนั้น การนำเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.99 ที่ถือเป็นเรือหลวงของพ่ออันทรงคุณค่า ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์เชิดชู ให้ได้ประจักษ์สู่สายตาประชาชนชาวไทย และชาวต่างชาติ อีกทั้ง เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแผ่พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีความห่วงใยในด้านการพัฒนากำลังรบอย่างชัดแจ้ง และเป็นที่ประจักษ์แก่กองทัพเรือ ที่ทรงพระราชทานวินิจฉัย และคำแนะนำในการต่อเรือรบให้แก่กองทัพเรือ ได้พัฒนาต่อสร้างเรือรบด้วยตนเอง มาจนตราบทุกวันนี้ ตลอดจน เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์กองทัพเรือ

“เรือของพ่อ” เป็นเรือที่มีคุณค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์การต่อเรือรบของไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีอัจฉริยภาพในการต่อเรือ เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2503 ในขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประพาทยุโรป ได้ทรงทอดพระเนตรกิจการการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งของกองทัพเรือเยอรมัน จึงทรงมีพระราชดำริว่า “กองทัพเรือน่าจะต่อเรือยนต์เร็วรักษาฝั่งเช่นนี้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญงาน และรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ อันจะเป็นการประหยัดมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ” จึงทำให้กองทัพเรือ โดย กรมอู่ทหารเรือ รับสนองพระราชดำริโดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ขึ้น

ซึ่งในระหว่างการดำเนินการนั้น พระองค์ทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.91 แม้แต่การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่างๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จไปประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.91 ลงน้ำ และนับจากนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 เพิ่มเติมอีกคือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98 และ ต.99 ในระหว่างปี 2514-2530 และยังคงพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง