เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในการพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้มีความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ลงนามร่วมกับ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นประธานการลงนาม ณ ห้องประขุม สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สำนักงานจตุจักร กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ธวัชชัย เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สทน. มีภารกิจในการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมไปถึงการให้บริการทางวิชาการ และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งสองหน่วยงานจึงสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเครื่องมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และวิจัย เช่น การร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางนิวเคลียร์ รังสี และพลาสมา การพัฒนาโครงงานนักเรียน การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการเรียนการสอน รวมไปถึงการจัดประชุมสัมมนาร่วมกันเพื่อพัฒนา บุคลากรการเรียนการสอนของทั้งสองหน่วยงาน

ในปีนี้ สทน. ได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพที่จัดการศึกษาดูงานให้กับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และปีที่ 5 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นเวทีที่ให้นักเรียนได้ มีโอกาสรับฟังบรรยายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และที่สำคัญที่สุด ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยและวิศวกรนิวเคลียร์โดยตรง อาจช่วยจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนเห็นว่าวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนั้น ปัจจุบัน สทน. ได้รับนักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 2 กลุ่ม จำนวน 6 คน เข้ามาเรียนรู้เพื่อทำโครงงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่ สทน. อีกด้วย

ขณะที่ ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า หลังจากนักเรียนของ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานที่ สทน. และมีนักเรียน 2 กลุ่ม ได้จัดทำโครงงาน โดยมีนักวิจัยของ สทน. เป็นที่ปรึกษา ทำให้ทางผู้บริหารเห็นประโยชน์หากทั้งสององค์กร จะมีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในอนาคตหากสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เห็นความเชื่อมโยงในด้านการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในงานวิจัยที่ตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในวงการการศึกษาและการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาหลักสูตร และโครงการวิจัยร่วมกันไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 720 คน เท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับผ่านการศึกษาของประเทศไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 18 แห่ง โรงเรียนในโครงการ วมว. และโครงการเครือข่ายอื่นๆ ทั้งประเทศ เชื่อว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับเยาวชนไทย