เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่สถาบันบำราศนราดูร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข แถลงผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2567 พร้อมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวมอบนโยบายปีงบฯ 2568 ว่า ในส่วนของกฎหมายหลักๆที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบฯ 2567 ก็จะผลักดันต่อ ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กสธ.), ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.อสม.) และร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ส่วนการขับเคลื่อนนโยบาย ปีงบฯ 2568 จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางสุขภาพประชาชนทุกระดับ เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 7 ประเด็น 1.ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เน้นเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, พัฒนาระบบบริการด้วยเทเลเมดิซีน AI ทางการแพทย์ และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์, ขยายเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิดิจิทัล และพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

2.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด โดยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งระบบบริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตบำบัดให้มีมาตรฐาน, ยกระดับมินิธัญญารักษ์และทีมชุมชนล้อมรักษ์รองรับระบบบำบัด รักษา ฟื้นฟู ที่มีแบบแผนเฉพาะบุคคล และให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด และตั้งกรมสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด ปรับปรุงโครงสร้างระดับพื้นที่ 3.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนโดยเฉพาะ อสม.

4.คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 400,000 คน และมีค่าใช้จ่ายด้านยา 1.3 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายทางอ้อม 1.5 ล้านล้านบาท รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับโรคนี้ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น ต้องป้องกันก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ, ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวมสู่การปฏิบัติ, ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ อาทิ พ.ร.บ. NCDs การป้องกันผู้สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่, สิทธิประโยชน์เพิ่ม เพิ่มแรงจูงใจให้คนมีสุขภาพดี ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เพื่อหารือว่า จะให้อะไรบ้าง เช่น อาจมีรางวัล หรือมาตรการลดหย่อนภาษี เพราะสถาบันพระบรมราชชนก ได้คำนวณวิจัยว่า ถ้าใน 50,000 คน มีคนเป็นโรค NCDs ราว 800 กว่าคน จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 153 ล้านบาท ถ้า 5 แสนคน ก็ลดไป 1,530 ล้านบาท

5.จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ โดยยกระดับสถานชีวาภิบาลและกุฏิชีวาภิบาล, เพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพและหน่วยบริการพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ในชุมชน เพื่อเพิ่มการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางในระดับพื้นที่ 6.เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical and Wellness Hub โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความปลอดภัยทุกมิติ, ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยฯ และ 7.บริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข โดยเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจ ผลักดัน พ.ร.บ.กสธ., พัฒนากฎหมาย/ระบบสนับสนุนการบริหารจัดการรพ.และการจัดซื้อจัดจ้าง, บริหารจัดการงบฯ และกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาการสาธารณสุขกับภาคส่วนอื่น สานต่อนโยบาย 50 เขต 50 รพ. เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลสีเขียว ปรับปรุงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการปรับปรุงบ้านพัก ถ้าใช้เงินไม่มากก็ใช้เงินบำรุง หรือเงินกู้ หรือเงินจากกองสลาก เบื้องต้น 345 แห่งทั่วประเทศ  

ด้าน นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กรมอนามัย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ โดยจะพัฒนาศักยภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์แผนไทย อาหารไทย สมุนไพรไทย การรักษาพยาบาล รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การผลิตและส่งออก ซึ่งตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ตั้งเป้าส่งเสริมธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้ได้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 รวมถึงการส่งออกหมอนวดไทย แต่ปัจจุบันจำนวนหมอนวดไทยยังไม่เพียงพอ จึงมองว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะของบกลาง 100 ล้านบาท เพื่อสร้างหมอนวดไทยคุณภาพ ให้เพียงพอส่งออกต่างประเทศ.