การต่ออายุขยายระยะเวลาดําเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป 2 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2567 ไปถึงวันที่ 24 กันยายน 2569 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายโดยเป็นไปตามกฎหมายบทเฉพาะกาล พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 โดยเรื่องได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 และผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567

เหตุผลในการขยายระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 น้ำมันดีเซล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ยังคงดำเนินการต่อไป เพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้เป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนในระดับที่แตกต่างกันสำหรับน้ำมันแต่ละประเภท และเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร และกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงไบโอดีเซล ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวในการหาตลาดรองรับ การจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่น ๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน

 ทั้งนี้ สกนช.ได้จัดทําแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พ.ศ. 2568  – 2569 เพื่อให้การดําเนินงานในการลดการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และเพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดําเนินการตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าประสงค์ที่กําหนดไว้

อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาหาทางออกให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ควรทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ เกิดความสมดุล และเหมาะสม เพราะหากอุดหนุนจัดการไม่ดี ไม่สมดุล จะเกิดปัญหาตามมาทั้งทางผู้ผลิต ผู้ใช้ และเทรนด์โลกที่ต้องการใช้น้ำมันที่เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะต้องศึกษารายละเอียดเพื่อหามาตรการใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมานาน การนำพืชพลังงาน อาทิ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพก่อนหน้านี้พืชดังกล่าวยังมีราคาถูก แต่ปัจจุบันพืชราคาสูงขึ้นการนำมาผสมในน้ำมันพื้นฐานจึงทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้น โดยการศึกษาจะต้องหาทางออกให้กับพืชพลังงานเหล่านี้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ก็ต้องมีส่วนช่วยในการพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย

ขณะเดียวกันในการส่งเสริมใช้พลังงานชีวภาพ จะต้องหามาตรการหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ครบทั้งวงจรในระยะยาว