● รัฐบาลสหราชอาณาจักรเร่งแผนยุติการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงพอ โดยจะยุติการใช้งานทั้งประเทศให้เร็วขึ้น 1 ปีเต็ม มาเป็นปี 2567

● นับเป็นก้าวสำคัญในแผนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน และเลิกมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2593

● การดำเนินการนี้จะทำให้ภายในเวลาเพียง 10 ปี สหราชอาณาจักรจะสามารถเลิกพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าได้โดยสิ้นเชิง จากที่เคยใช้ถ่านหินอยู่เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูแบบเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม

รัฐมนตรีด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แอน มารี เทร็ฟเวเลียน ประกาศว่า สหราชอาณาจักรจะยุติการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เร็วกว่าที่วางแผนไว้ 1 ปี

การประกาศนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน เพื่อพาสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ได้ภายในปี 2593 การประกาศในวันนี้ ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ได้ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว ว่าจะเร่งยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาถ่านหินให้เร็วยิ่งขึ้น

การประกาศนี้ ทำให้สหราชอาณาจักรต้องยุติการใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าให้เร็วกว่าเดิม 1 ปี ตอกย้ำให้เห็นความเป็นผู้นำที่จะขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่า และล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ โดยดำเนินการเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนถึงการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรขอเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ เร่งการยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินเช่นเดียวกัน

พลังงานถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดตัวหนึ่ง และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ หากยุติการใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เมื่อปี 2563 สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินคิดเป็นร้อยละ 1.8 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 40 เมื่อเกือบสิบปีก่อน

การประกาศนี้ออกมาก่อนที่รัฐมนตรีด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แอน มารี เทร็ฟเวเลียนจะขึ้นกล่าวในงานประชุม Powering Past Coal Alliance (PPCA) Europe Roundtable ในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศลอนดอน (London Climate Action Week) โดยเธอได้กล่าวถึงความสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องยุติการให้เงินสนับสนุนพลังงานถ่านหิน และแนวทางการดำเนินงานที่บริษัทเอกชนจะสามารถร่วมผลักดันประเด็นนี้ได้

รัฐมนตรีด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แอน มารี เทร็ฟเวเลียน กล่าวว่า

“ถ่านหินเคยเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อสองร้อยปีมาแล้ว แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อกำจัดเชื้อเพลิงสกปรกนี้ออกไปจากระบบพลังงานของเราโดยสิ้นเชิง”

“วันนี้เราส่งสัญญาณชัดเจนไปทั่วโลกว่าสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในการปิดฉากพลังงานถ่านหิน ให้อยู่เพียงในหน้าประวัติศาสตร์และว่าเราจริงจังกับการหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงาน เพื่อเราจะได้บรรลุเป้าด้านสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก”

“อนาคต Net Zero หรืออนาคตแห่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของสหราชอาณาจักร จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีนี้จะขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว และสร้างงานใหม่ ๆ ทั่วประเทศ”

สหราชอาณาจักรหยุดใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นเวลา 5,000 ชั่วโมงในปี พ.ศ.2563 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ทำลายสถิติด้านพลังงานลมด้วยการใช้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ใน 3 ของไฟฟ้าในประเทศ การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี และการอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานสีเขียวลดลงจนปัจจุบันพลังงานถ่านหินในประเทศส่วนมากมีราคาแพงกว่าพลังงานอื่น ๆ


ในฐานะประเทศแรก ๆ ที่ได้ให้คำมั่นที่จะยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ประกอบกับความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน สหราชอาณาจักรจึงเป็นผู้นำโลก ในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

ในฐานะประธานการประชุม COP26 สหราชอาณาจักรขอเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเช่นเดียวกัน และไม่กลับมาใช้พลังงานถ่านหินอีกต่อไป ในการประชุมรัฐมนตรีด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประธาน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงยุติการให้เงินสนับสนุนพลังงานถ่านหินภายในสิ้นปีนี้ และได้ตกลงที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินแบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่เพียงพอ (unabated coal) ไปสู่ระบบพลังงานแบบคาร์บอนต่ำ ในสัดส่วนมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 2030.

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES