รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ความตกลงเป็นอันสิ้นสุด ความพยายามนานเกือบ 3 ปี ในการกำหนดอนาคต นโยบายเกษตรร่วม หรือ ซีเอพี (Common Agricultural Policy) ของสหภาพยุโรป ที่ดูดงบประมาณราว 1 ใน 3 ของอียู ระหว่างปี 2564–2570

EU Food & Farming
 
โดยเป็นการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร 387,000 ล้านยูโร (14,673,900 ล้านบาท) และสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ชนบท
ADVERTISEMENT

ตัวแทนเจรจาจาก 27 ประเทศสมาชิกอียู และรัฐสภายุโรป บรรลุข้อตกลงที่มีเป้าหมายโยกเงินอุดหนุน จากการทำฟาร์มแบบประณีต (intensive farming practices) ไปใช๋ปกป้องธรรมชาติ และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำการเกษตรของอียู ไม่ให้เกิน 10%
 
กฎระเบียบใหม่ ซีเอพี จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 และไม่ครอบคลุมสหราชอาณาจักร เนื่องจากถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของอียูไปแล้ว
 
มาเรีย โด โซ อวงตวน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรโปรตุเกส ในฐานะตัวแทนเจรจาของฝ่าย 27 ประเทศอียู กล่าวว่า ในอนาคต การทำฟาร์มไม่เพียงแต่จะรับประกันบรรดาเกษตรกร ว่าเป็นธุรกิจที่ดีและยั่งยืน และราคาสินค้าเกษตรเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่ยังจะมีส่วนร่วมทำให้สิ่งแวดล้อมของยุโรปดีขึ้น

EU Food & Farming

ส่วน นอร์เบิร์ต ลินส์ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของฝ่ายรัฐสภายุโรป กล่าวว่า การทำฟาร์มขนาดเล็กแบบครอบครัว จะได้รับการสนับสนุน และแผนงานภายใต้ความตกลง จะมีการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรคุ้มครองสิ่งแวดลอ้มด้วย

กลุ่มเคลื่อนไหว และสมาชิกรัฐสภายุโรปบางส่วน กล่าวถึงความตกลงว่า ไม่กำหนดให้การทำฟาร์มต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของอียู ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือ ภาวะโลกร้อน

นอกจากนั้น มาตรการจำนวนมากที่จะกระตุ้นเกษตรกร ให้ปรับเปลี่ยนปสู่วิธีการทำฟาร์ม แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่รัดกุมพอ และไม่เป็นการบังคับ

ความตกลงจะกำหนดให้ 27 ประเทศอียู จ่ายเงินให้เกษตรกร 20% ระหว่างปี 2566 – 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 25% ระหว่างปี 2568 – 2570 ในแผนโครงการ  eco-schemes เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

แผนดำเนินงานยกตัวอย่างเช่น ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการทำเกษตรอินทรีย์

แต่กฎเกณฑ์ใหม่ ไม่ได้ให้คำจำกัดความ ว่าทำแบบใดจึงจะเข้าข่าย เป็น  eco-schemes และเงินทุนน้อยกว่าขีดจำกัดที่ระบุ ที่ไม่ได้ใช้จ่ายในแผน  eco-schemes จะต้องนำไปใช้จ่ายในมาตรการสิ่งแวดล้อม ในโครงการอื่น ๆ แทน

กฎเกณฑ์ใหม่ตามความตกลง ยังกำหนดให้ 27 ประเทศอียู แจกจ่ายเงินใหม่ อย่างน้อย 10% จากกองทุน ซีเอพี ให้แก่เกษตรกรรายย่อย แต่หลายประเทศอาจเลี่ยงกฎข้อนี้ได้ หากใช้วิธีการอื่นในการแจกจ่ายเงินอุดหนุนอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม

27 ประเทศอียูจะต้องจ่าย 3% ของกองทุนอุดหนุน แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ และควรใช้กฎเกณฑ์เช่น การทดสอบรายได้ เพื่อกำหนดว่าผู้ใดคือ “เกษตรกรคนขยัน” ที่สามารถรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ กรณีนี้เป็นอีกมาตรการ เพื่อป้องกันธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ให้ดูดเงินอุดหนุน

การจ่ายเงินแก่เกษตรกรทุกคน จะต้องพ่วงเงื่อนไข ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กันพื้นที่ทำกิน 3% ไว้สำหรับให้ธรรมชาติได้เจริญเติบโต

ภายใต้ความตกลง ยังกำหนดให้ก่อตั้งกองทุนวิกฤติ มูลค่า 450 ล้านยูโร (17,063 ล้านบาท) เผื่อไว้สำหรับตลาดการเกษตรได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉิน เช่น โรคระบาดรุนแรง

หน่วยตรวจสอบบัญชีอียู กล่าวว่า ซีเอพี ที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน ประสบความล้มเหลวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการทำฟาร์มของอียู ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งมาจากปศุสัตว์ ไม่ลดลงตั้งแต่ปี 2553.

——————-
                                            
สังคมโลก : เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS