สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า แถลงการณ์ของบริษัท คันไซ อิเล็กทริค พาวเวอร์ ระบุว่า เตาปฏิกรณ์มิฮามะหมายเลข 3 (Mihama No. 3 reactor) ในจังหวัดฟูกูอิ กลับคืนสู่ปฏิบัติการอีกครั้ง เมื่อวันพุธ (23 มิ.ย.) หลังจากคนงานถอดแท่งควบคุม ภายในเตาปฏิกรณ์

มิฮามะหมายเลข 3 ซึ่งเริ่มปฏิบัติการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นหนึ่งในเตาปฏิกรณ์เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น และ 1 ใน 3 เตาที่ปฏิบัติการโดยบริษัท คันไซ อิเล็กทริค ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้สามารถขยายเวลาปฏิบัติการ ได้จากข้อตกลงเดิม 40 ปี และเป็นเตาแรกของทั้งหมด 3 เตา ที่กลับสู่ปฏิบัติการ นับตั้งแต่การล่มสลายจากมหาสึนามิ มี.ค. 2554 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งทำให้มีการระงับปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วประเทศญี่ปุ่น

ประชาชนกลุ่มหนึ่งในเมืองฟูกูอิ และอีกหลายเมืองของจังหวัด เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลแขวงโอซากา เมื่อวันจันทร์ (21 มิ.ย.) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ระงับการเปิดเตาปฏิกรณ์มิฮามะหมายเลข 3 ใหม่ เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัย จากกความเก่าแก่ของเตา

เตาปฏิกรณ์มิฮามะหมายเลข 3 เคยเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยน้ำร้อนและไอน้ำรั่วไหลออกจากท่อที่แตกร้าว ในอาคารกังหัน ทำให้คนงานเสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บอีก 6 คน

บริษัท คันไซ อิเลกทริค มีแผนที่จะเปิดใช้งานใหม่ เตาปฏิกรณ์อีก 2 เตาที่เหลือของบริษัท คือ ทาคาฮามะหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดฟูกูอิ และได้รับอนุญาตจากทางการ ให้ขยายเวลาปฏิบัติการเช่นกัน 

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ที่ประกาศเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ว่า ญี่ปุ่นจะบรรลุเป้าหมาย ปลอดคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 เมื่อเร็วๆ นี้ประกาศปรับเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากระดับ 26% ในปี 2556 เป็น 46% ภายในปี 2573.

เครดิตภาพ – AP, ExpertsNRG
เครดิตคลิป – Nippon TV News 24 Japan