ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยมีประชากรผู้สูงอายุถึงประมาณ 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ประเทศไทยกำลังเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) ภายใน 10 ปีข้างหน้า สังคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ผู้สูงอายุหลายคนยังคงทำงานเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนการออม

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาสูงอายุไทย  (มส.ผส.  ) ภายใต้การสนับสนุนจากสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ชี้ให้เห็นบริบทและสถานการณ์ในมิติของการทำงานของผู้สูงอายุไทย การทำงานของผู้สูงอายุในไทย ภาพสะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ ในปี 2566 พบว่าผู้สูงอายุไทยประมาณ 5 ล้านคนยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคแรงงานนอกระบบ เช่น การเกษตร การค้าขาย และบริการทั่วไป ปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุยังคงต้องทำงานต่อเนื่องคือการขาดแคลนเงินออม รายงานจากการสำรวจระบุว่า ร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน แม้จะมีสวัสดิการจากรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพ แต่กลับไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน นอกจากนี้ สถานการณ์การจ้างงานผู้สูงอายุไทยยังประสบปัญหาจากทัศนคติทางสังคมที่มองว่าผู้สูงอายุไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมเทียบเท่ากับวัยทำงาน การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ผู้สูงอายุมักถูกมองว่าควรพักผ่อนมากกว่าจะทำงานต่อไป

การประชุมเชิงนโยบายครั้งสำคัญ  ดันข้อเสนอส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุไทย หวังขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มส.ผส. ได้จัดเวทีการประชุมหารือข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเน้นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงทางมนุษย์ (พม.)  เพื่อให้มั่นใจว่าข้อเสนอแนะที่ได้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและสอดคล้องกับการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการนี้ มส.ผส. ได้เน้นถึงการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ

จากการทบทวนงานวิชาการและงานวิจัยต่างๆ สามารถสกัดข้อเสนอเชิงนโยบายการจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุไทย โดยในภาพรวม มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการจ้างงานของผู้สูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี และการสร้างแรงจูงใจที่เพียงพอสำหรับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมทักษะของผู้สูงอายุให้สามารถทำงานที่มีคุณค่าได้ต่อไปในอนาคต รายละเอียดดังนี้

1. การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน: มีข้อเสนอให้ใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วในภาครัฐ เช่น เบี้ยยังชีพ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเปราะบาง ข้อเสนอรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มจับคู่งาน (Matching) เช่น Smart Job ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของกระทรวงแรงงานที่สามารถแสดงความต้องการและความสามารถของผู้สูงอายุเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง

2. สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจในการจ้างงาน: มีการเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจในการจ้างงานสำหรับนายจ้าง เช่น การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อชะลอการเกษียณอายุ รวมถึงการพิจารณาให้ผู้ประกันตนสามารถรับบำนาญในขณะที่ยังทำงานได้ ขณะเดียวกันมีการเสนอให้ขยายเพดานบำนาญเพื่อให้ผู้เกษียณอายุมีหลักประกันรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพ

3. การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Reskill และ Upskill): ข้อเสนอให้สถานประกอบการพัฒนาแรงงานสูงวัยโดยการ Reskill และ Upskill เพื่อให้แรงงานมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีมาตรการส่งเสริม เช่น การหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะของแรงงานตั้งแต่อายุ 50 ปี นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้แก้ไขมาตรการด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของแรงงานที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

4. การมีส่วนร่วมและสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรท้องถิ่น: ข้อเสนอสุดท้ายเน้นให้มีการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดการทรัพยากรและการตลาด รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานในชุมชนผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับธรรมชาติของแรงงานสูงวัย

ทั้งนี้มีบทเรียนจากต่างประเทศ: ทางออกที่ไทยควรพิจารณา จากการทบทวนตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับสังคมสูงวัย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พบว่ามีมาตรการสำคัญ เช่น การขยายอายุเกษียณ การลดภาษีสำหรับนายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ และการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานสูงวัยอย่างต่อเนื่อง การนำมาตรการเหล่านี้มาปรับใช้ในประเทศไทยอาจเป็นส่วนหนึ่งของทางออกในการจัดการกับวิกฤตสังคมสูงวัย

การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม การประชุมหารือเชิงนโยบายครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาการจ้างงานของผู้สูงอายุ และสร้างโอกาสในการทำงานให้แก่ผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน