เริ่มทำงานแล้ว…สำหรับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) คนใหม่ คนที่ 20 นายวีริศ อัมระปาลเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. เป็นผู้ลงนามสัญญาว่าจ้างระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ชื่อ วีริศ อัมระบาล เป็นตัวเต็งในการสรรหาที่คาดว่าจะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่ารฟท.มาตั้งแต่ต้น หลังครบวาระ 4 ปีผู้ว่ารฟท. คนที่ 19 นายนิรุฒ มณีพันธ์ที่ไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง เป็นสัญญาณที่ทำให้เจ้าตัวไม่มาสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้

นายวีริศ แสดงความรู้สึก หลังการลงนามสัญญาว่า เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะใช้ตำแหน่งผู้ว่ารฟท. ช่วยพัฒนาประเทศชาติ พร้อมทำงานเต็มที่ แต่คงไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่รฟท. ทุกคนทำงานร่วมกัน งานแรกจะพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในทุกเรื่องเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น ขอเวลาอีก 20-30 วัน หรือภายในเดือน ต..2567 จะแถลงนโยบายและแนวทางการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

เบื้องต้นมีเป้าหมายจะช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้ของ รฟท. ที่มีอยู่ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท รวมทั้งต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้น ในส่วนของหนี้สิน ต้องแยกให้ชัดเจนว่าหนี้จริงๆ ของ รฟท. มีเท่าใด เพราะหนี้ 2.3 แสนล้านบาท เป็นหนี้ภาระผูกพันที่เกิดจากการให้บริการเดินรถเชิงสังคม ที่ต้องขอรับเงินอุดหนุนบริการเชิงสังคม (PSO) ด้วย เมื่อแยกออกมาชัดเจนแล้ว จะได้หาแนวทางว่าจะเจรจาประนอมหนี้อย่างไรได้บ้าง

ส่วนการเพิ่มรายได้ ต้องนำที่ดินของ รฟท. ที่มีอยู่จำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต้องดูว่ายังติดขัดปัญหาอะไรที่ทำให้เดินหน้าสร้างรายได้ไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องเปิดให้เอกชนเช่าใช้ราง เพื่อขนส่งสินค้า นอกจากช่วยสร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้วย มีหลายรูปแบบอาจเป็นเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) หรือต้องรอให้ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ของกรมการขนส่งทางราง(ขบ.) มีผลบังคับใช้ก่อน หรือหากเป็นหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะใช้วิธีลงนามความร่วมมือ(MOU) หรือตั้งบริษัทลูกได้หรือไม่ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด

นอกจากนี้จะเร่งแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้าง และผลักดันโครงการต่างๆ ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) , โครงการรถไฟทางคู่, ส่วนต่อขยายรถไฟระบบชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) รวมถึงโครงการจัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ และรถไฟ KIHA ที่รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้ทราบว่ามีประเด็นจอดไว้อยู่ที่แหลมฉบัง จะเข้าไปดูด้วยว่า ติดขัดเรื่องใด และเร่งแก้ปัญหา เพื่อนำรถมาปรับปรุงและให้บริการประชาชนโดยเร็ว รวมถึงจะเข้าไปดูโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ไอซีดี) ลาดกระบัง เพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นานทั้งที่เป็นพื้นที่มีศักยภาพรองรับตู้คอนเทนเนอร์และเชื่อมกับระบบราง

ไม่รู้สึกหนักใจกับการเข้ารับตำแหน่งถือเป็นความท้าทาย ยินดีรับปัญหาแม้จะเป็นโจทย์ยากแต่ตั้งมั่นตั้งใจจะนำพาให้รฟท.เดินไปข้างหน้า สามารถผงกหัวขึ้นให้ได้ ถ้าไม่เริ่มเวลานี้องค์กรจะถอยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น ….ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่ารฟท.เพราะเป็นคนสนิทของนายสุริยะนั้น….ผมตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีประสบการณ์ทำงานหลายองค์กร ตำแหน่งผู้ว่ารฟท. เป็นจังหวะโอกาสหนึ่งที่เห็นว่าทำหน้าที่ได้ และเข้ามาตามกระบวนการอย่างถูกต้อง

นายวีริศ อายุ 49 ปี เกิดวันที่ 9 ม.ค.2518 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท Operations Research มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ปริญญาเอก Industrial and Systems Engineering มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส สหรัฐอเมริกา สาขาความเชี่ยวชาญด้านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems) ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ด้านระบบการจัดการภาคการผลิตและการขนส่ง (Production and Logistics Management) และด้านการบริหารระบบซ่อมบำรุง (Maintenance Management)

ปี 2562 นายวีริศ เป็นที่ปรึกษารมว. ยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ปี 2564 เป็นผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ช่วงนายสุริยะ เป็นรมว.อุตสาหกรรม

ต้นเดือนต..นี้ นายสุริยะ จะไปมอบนโยบายรฟท. เพื่อให้ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตต่อเนื่องและขยายขีดความสามารถการขนส่งทางรางให้ทัดเทียมนานาประเทศก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศเป็นสำคัญ

9 โครงการสำคัญที่ผู้ว่ารฟท.ต้องเร่งให้สำเร็จเป็นรูปธรรมตามนโยบาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) 1ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โครงการให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ตามแผนงาน 2.โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง เพื่อนำเสนอครม. พิจารณาโดยเร็ว 3.โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต้องเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ตามแผนงาน(ปี2571) 4.โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าจะเสนอ ครม. เห็นชอบได้ภายในปี 2567 และเปิดประกวดราคางานโยธาช่วงต้นปี 2568 ส่วนงานเดินรถ คาดว่าจะดำเนินการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) ซึ่ง รฟท. ต้องเร่งศึกษารายละเอียด

5.โครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 7.ปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 (รถพัดลม) ให้เป็นขบวนรถปรับอากาศ (รถแอร์) 8.จัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน และ9.แก้ไขปัญหาหนี้สะสมกว่า 2.3 แสนล้านบาทต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทั้งจากการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

ช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ มอบหมายนายสุระพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นผู้ควบคุมดูแลสั่งการรฟท.(ผู้ว่ารฟท.คนที่ 19) รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนผู้ว่ารฟม.ใหม่ คนที่ 20….ชื่อ วีริศ อัมระปาล

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…