..” ดีเดย์เปิดเทอมไม่ถึงเดือนปรากฎข่าวรถรับส่งนักเรียนประสบอุบัติเหตุติดกันหลายครั้ง ยกตัวอย่าง ในพื้นที่จ.ลำปาง และลพบุรี เป็นอุบัติเหตุใหญ่ทำให้มีเด็กเสียชีวิต

จากสถิติปี 66 เฉพาะห้วง 9 เดือน พบมีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเกิดขึ้นมากถึง 27 ครั้ง เกือบเท่าสถิติตลอดทั้งปี 65 ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 30 ครั้ง

แนวโน้มความสูญเสียนี้เกิดจากอะไร และควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สะท้อนมุมมองพร้อมข้อเสนอผ่าน“ทีมข่าวอาชญากรรม” ระบุถึง ความเสี่ยงหลักว่ามาจากรถรับส่งนักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นการนำรถส่วนบุคคลมาวิ่งรับจ้าง

พร้อมชี้รากปัญหาเชิงลึก โดยเฉพาะข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทำให้ผู้ประกอบการรถรับส่งอาศัยการรับเด็กจำนวนหลายคน เพื่อมาเฉลี่ยกัน ปัญหาที่ตามมาคือการบรรทุกเกิน และมีการดัดแปลงสภาพให้บรรทุกเด็กได้มากขึ้น และด้วยเป็นรถส่วนบุคคลที่นำมาดัดแปลง เป็นรถนอกระบบ จึงไม่ถูกกำกับด้วยพ.ร.บ.ขนส่งทางบกฯ และนำไปสู่ความเสี่ยง

1.คนขับ ที่ไม่ถูกกำกับใบขับขี่สาธารณะ ไม่ถูกกำกับความเร็วชั่วโมงทำงาน เพราะไม่ได้ติดระบบจีพีเอส 2.รถ ไม่ได้ตรวจสภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย และ3.อื่นๆ เช่น ถนน จุดจอดรับส่ง และสภาพเส้นทาง

ผู้จัดการ ศวปถ. ระบุ แม้ปัญหาอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเคยถูกยกเครื่องครั้งใหญ่ แต่ต้องยอมรับว่า“รากปัญหา”ยังไม่เคยมีการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาสำคัญคือ การที่ผู้ปกครองที่ให้ลูกหลานเดินทางด้วยรถรับจ้างรับส่งไม่สามารถจ่ายเงินส่วนนี้ได้มากนัก เป็นผลให้คนขับหรือผู้ประกอบการต้องเก็บอัตราไม่แพง แต่ใช้วิธีเพิ่มจำนวนรับเด็กมาเฉลี่ยแทน

ยกตัวอย่าง กรณีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่จ.ลำปาง ที่มีข้อมูลเฉลี่ยค่ารับส่งเด็กเดือนละประมาณ 900 บาท ซึ่งมองว่าหากสูงกว่านี้ผู้ปกครองอาจไม่มีกำลังจ่าย

ทั้งนี้ รถรับส่งนักเรียน ต่างจากรถนักเรียน เพราะหากเป็นรถนักเรียนจะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ขนส่งทางบกฯ ต้องจดทะเบียน และมีมาตรฐานความปลอดภัยกำกับ เช่น คนขับต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ รถต้องติดจีพีเอส ขณะที่ความเป็นจริงรถรับส่งนักเรียนปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 เป็นการนำรถส่วนบุคคลมาใช้งาน โดยดัดแปลงและมักบรรทุกเกินด้วยเงื่อนไขที่พัวพันกำลังจ่ายของผู้ปกครอง

โจทย์บรรทุกเกินเพื่อประหยัดเงินผู้ปกครองที่จ่ายได้ไม่มาก สิ่งที่ตามมาคือมีการดัดแปลงสภาพ รถกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สภาพเก่า คนขับอายุมาก”

อย่างไรก็ตาม เพิ่มเติมถึงสภาพเส้นทางที่ใช้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ด้วยความตั้งใจของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด จึงมักส่งเข้าโรงเรียนระดับอำเภอ หรือจังหวัด การนั่งรถมาโรงเรียนจึงมีระยะทางไกล ประกอบกับรากปัญหาเรื่องกำลังจ่ายผู้ปกครอง ทำให้คนขับต้องรับเด็กจำนวนมาก อีกปัญหาคือต้องรับส่งเด็กต่างโรงเรียนภายใต้ระยะเวลาจำกัด ซึ่งอุบัติเหตุล่าสุดที่จ.ลำปาง พบต้องรับส่งเด็กถึง 9 โรงเรียน

การต้องเร่งความเร็วเพื่อส่งเด็กนักเรียนให้ทัน สภาพเส้นทาง และระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานจากการดัดแปลง ล้วนเป็นความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

โรงเรียนโดยมาตรฐานมักอยู่ในตัวจังหวัด หรืออำเภอ จึงไม่แปลกที่เห็นรถรับจ้างรับส่ง มีปลายทางวิ่งไปในจุดเหล่านี้ เพื่อตระเวนส่งเด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิ่งข้ามอำเภอ รถจึงต้องวิ่งไกล ความเสี่ยงที่ตามมาคือ การใช้ความเร็วเพื่อส่งให้ทัน”

ผู้จัดการ ศวปถ. ชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐ หรือท้องถิ่นต้องปลดล็อคกระบวนการให้เงินอุดหนุนค่าหัวเด็ก เพราะลำดังค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างค่าชุด ค่าหนังสือ ค่ากิจกรรม ก็แทบไม่เหลือมาถึงค่าเดินทาง ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินอุดหนุนเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่บ้านไกลและต้องใช้รถรับส่งได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

ในส่วนของท้องถิ่นต้องยอมรับว่า เวลาจะให้เงินอุดหนุนยังติดเงื่อนไขระเบียบ ซึ่งจุดนี้มองว่าควรมีการทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้ระดับพื้นที่สามารถบริหารจัดการได้มากขึ้น ถือเป็นโจทย์กลางที่ต้องหารือกับระดับนโยบาย เพื่อปลดล็อคเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหากลับไปติดล็อคเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการ ศวปถ.เสนอการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าแต่ละจังหวัดควรทบทวนความเสี่ยงของรถรับส่งในพื้นที่ตัวเอง ผ่านกลไกแต่ละจังหวัดที่มีอนุกรรมการด้านความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนระดับจังหวัด ที่อยู่ภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ร่วมกับขนส่งทางบก โรงเรียน ศึกษาธิการจังหวัด ประชุมจัดระเบียบ ผ่านการสำรวจว่ามีจุดใดเป็นความเสี่ยงบ้าง เพราะแต่ละพื้นที่ปัญหาแตกต่างกัน

พร้อมย้ำการจัดการไม่มี“สูตรสำเร็จ” กลไกพื้นที่ต้องเข้ามามีบทบาท ขณะที่โจทย์กลางคือต้องผลักดันให้ศึกษาธิการและท้องถิ่นสามารถให้เงินอุดหนุนผู้ปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้สุดท้ายปัญหาก็วนกลับมาอยู่ในวงจรเดิมๆคือผู้ประกอบการต้องเพิ่มจำนวนเด็กในการรับส่งไปเยอะๆเพื่อให้อยู่ได้

ปัญหานี้มักต้องมีแรงกดดัน หรือกระแสตื่นตัวก่อน ตอนนี้กระแสสังคมยังขึ้นๆลง ส่วนหนึ่งพราะยังมองไม่เห็นลึกไปถึงรากปัญหาว่าเพราะผู้ปกครองจ่ายได้จำกัด ผู้ประกอบการต้องเพิ่มจำนวนเด็ก เพื่อเฉลี่ย เลยกลายเป็นความเสี่ยงซ่อนอยู่เต็มไปหมด” ผู้จัดการ ศวปถ. ฝากทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน