ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ “เดอะ สเตรตส์ไทม์ส” นายแดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนายโยฮันเนส อับราฮัม เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอาเซียน ยืนกรานว่า สหรัฐไม่เคยลดการมีส่วนร่วมในอาเซียน

“พวกเรามีส่วนร่วมกับอาเซียน ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทุกตัวชี้วัด และเราคิดว่า มันมีแรงผลักดันมหาศาลที่นี่” คริเทนบริงค์ กล่าวเพิ่มเติม โดยชี้ว่า รัฐบาลของไบเดน แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่ออาเซียนในหลายด้าน รวมถึงการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” เมื่อปี 2565

นอกจากนี้ ไบเดนยังเข้าร่วมการประชุมอาเซียนครั้งสำคัญในกรุงพรมเปญ ประเทศกัมพูชา และเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ในการประชุมสุดยอดพิเศษครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างสหรัฐกับอาเซียน ที่ทำเนียบขาว ในปีเดียวกัน

แม้ในปีที่แล้ว ไบเดนไม่ได้ปรากฏตัวที่การประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ เข้าร่วมแทน อีกทั้งยังไม่มีความแน่ชัดว่า ไบเดนจะเข้าร่วมการประชุมที่ลาว และเชิญผู้นำอาเซียนมายังทำเนียบขาวในปีนี้หรือไม่ แต่คริเทนบริงค์ กับอับราฮัม กล่าวว่า ไบเดนพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่ออาเซียนแล้ว ด้วยการกำหนดให้เป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เมื่อปี 2565

“ไบเดนกล่าวว่า อาเซียนและภูมิภาคนี้ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งที่เราทำ ซึ่งพวกเรามีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนขึ้นในภูมิภาคนี้” คริเทนบริงค์ ระบุเสริม

นักการทูตทั้งสองคนชี้ว่า สหรัฐยังคงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการค้าระหว่างสหรัฐกับภูมิภาคนี้ มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งสร้างงานมากกว่า 600,000 ตำแหน่งในสหรัฐ และมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ไบเดนมองข้ามอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี เช่น การยกระดับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อีกทั้งรัฐบาลวอชิงตัน ยังดำเนินตามกรอบการทำงานพหุภาคีกลุ่มย่อย ที่ไม่รวมประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรควอด (สหรัฐ-อินเดีย-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย) และพันธมิตรออคัส (สหรัฐ-สหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย) ซึ่งสิ่งนี้จะบ่อนทำลายความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค

กระนั้น อับราฮัมไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ และกล่าวว่า สหรัฐขยายการมีส่วนร่วมกับอาเซียน ในระดับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และความสัมพันธ์ทวิภาคีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้แยกจากกัน แต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่มีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งสำหรับภูมิภาคนี้ และการแข่งขันกับจีน ที่ดุเดือดยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มั่นคง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES