ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ (BRICS) หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยขณะนี้มีสมาชิกรวมกันแล้วประมาณ 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเมื่อรวมขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดแล้วก็มีขนาดใหญ่ไม่น้อยทีเดียว หรือกว่า 28.4% ของโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันประมาณ 39% ของโลก

ประเทศล่าสุดที่เข้ามาเป็นสมาชิกซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ได้แก่ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังที่ประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 ได้ประกาศรับสมาชิกใหม่ 6 ประเทศ

หวังสร้างระเบียบการเงิน

กลุ่มบริกส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องการสร้างระเบียบการเงิน และระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่โดยต้องการเห็นพัฒนาการของระบบโลกไปสู่การมีมหาอำนาจในหลาย ๆ ขั้ว ไม่ใช่แค่ผูกขาดเพียงมหาอำนาจเพียงขั้วเดียวที่ผ่านกลุ่มประเทศจี 7 ที่มีทั้งสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น

ต้องยอมรับว่าการที่ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ นับว่าเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรง และยังไม่มีทีท่าว่าจะไปยุติลงตรง ณ จุดใด และก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ได้มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออก ที่เห็นได้อย่างชัดเจน แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งที่สมทบเข้ากับปัญหาความไม่พอดีของการค้าโลกก็ตาม

ไทยเริ่มสนใจ ส.ค. ปี 66

ทั้งนี้ประเทศไทยได้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ในสมัยที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ในช่วงนั้นที่เดินทางไปยังแอฟริกาใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ จึงได้ใช้โอกาสสำคัญนี้แสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก พร้อมระบุด้วยว่าไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกกลุ่มบริกส์ ทั้งหมดและไทยมีศักยภาพที่จะเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของการเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญการเป็นสมาชิกครั้งนี้จะทำให้ไทยสามารถขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน กระจายความเสี่ยงทางการค้า เข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ และส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศสมาชิกได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์อย่างเป็นทางการและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ทั้ง 10 ประเทศนี้มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก และเตรียมเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอด ครั้งที่ 16 ที่เมืองคาซาน รัสเซีย ในวันที่ 22-24 ต.ค.นี้

ไฟเขียวฉวยจังหวะที่ดี

ช่วงจังหวะนี้… ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ไทยต้องเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ไม่ใช่มีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะประเทศเกิดใหม่ในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียต่างก็จะทยอยเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ เพราะเห็นประโยชน์จากการสลัดทิ้งจากระบบเดิมที่นายทุน หรือนักลงทุนต่างชาติมีอำนาจต่อรองเหนือทรัพยากรธรรมชาติของประเทศตัวเอง ที่สำคัญไทยจะสามารถทวงคืนอำนาจอธิปไตยในการบริหารนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ การเงิน รวมทั้งกลับมาดูแลบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมได้มากที่สุดอีกต่างหาก

ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน นอกเหนือจากนี้ยังช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านี้!! ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุม และไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด ขณะเดียวกันก็มีจีนและรัสเซียเป็นผู้นำ ที่จะช่วยเพิ่มพลังอำนาจการต่อรองในระเบียบโลกใหม่

ร่วมมือภายใต้ 3 เสา

อย่างไรก็ตามความร่วมมือในกลุ่มบริกส์นี้ จะแบ่งออกเป็น 3 เสา ได้แก่ 1. เสาด้านการเมืองและความมั่นคง 2. เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และ 3. เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม โดยนอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของบริกส์แล้ว แต่ละเสายังมีการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน

ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทยมีความพร้อมการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ก็จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่มนี้ เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อาร์เซ็ป-เอฟทีเอไม่พอ

ในด้านของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ต่างก็เด้งรับการเข้าร่วมสมาชิกของกลุ่มบริกส์ในครั้งนี้ เพราะมองเห็นแต่ประโยชน์ที่ควรจะได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ การรวมตัวให้เกิดความแข็งแรง เกิดโอกาส ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะเพียงแค่จะรอใช้แต่ความร่วมมือในกรอบของอาร์เซ็ป หรือเพียงแค่กรอบความร่วมมือภายใต้เอฟทีเอในกรอบเจรจาต่าง ๆ อย่างเดียว คงไม่มีผลมากนัก เพราะเวลานี้แต่ละกรอบเอฟทีเอก็ยังไม่มีความคืบหน้า

โดยสรุปแล้ว ไทยมีแต่ได้กับได้ในการเข้าร่วมบริกส์ ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคง การเงิน เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน พลังงานของไทย ในขณะที่ผลเสียแทบมองไม่เห็น เนื่องจากบริกส์กำลังสร้างระเบียบการเงิน และเศรษฐกิจโลกใหม่ที่จะมีความชัดเจน หรือยุติธรรมมากยิ่งขึ้น.