แม้นักวิเคราะห์หลายคนเน้นย้ำว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจถึงความตั้งใจของผู้นำอิหร่าน แต่ประวัติของไรซี ในฐานะเสาหลักคนหนึ่งของประเทศ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นแคนดิเดตผู้นำสูงสุดคนต่อไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอาลี ฟาตอลเลาะห์-เนจาด ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกกลางและระเบียบโลก ซึ่งเป็นคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า ไรซีถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหรือไม่ แต่ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ คาเมเนอี ส่งคนสนิทที่รู้จักกันมานานขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ เช่น หัวหน้าฝ่ายตุลาการ และประธานาธิบดี

“ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่คลุมเครือของอิหร่าน มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รู้ว่า ไรซีมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำสูงสุดคนต่อไปหรือไม่ แต่ถ้าเขาถูกวางตัวให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ การเสียชีวิตของเขาจะก่อให้เกิดคำถามใหญ่เกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่ง” นายอาลี วาเอซ และนายเนย์ซาน ราฟาตี นักวิเคราะห์จากอินเทอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) ระบุในงานศึกษา

นอกเหนือจากไรซี คู่แข่งชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่านอีกคนหนึ่ง คือ มอจตาบา บุตรชายของคาเมเนอี วัย 54 ปี ซึ่งเป็นบุคคลลึกลับที่ไม่ค่อยพบเห็นในที่สาธารณะ แต่เขามีอิทธิพลมหาศาลอยู่เบื้องหลัง และถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐ

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน (คนที่สองจากขวา)

ด้านฟาตอลเลาะห์-เนจาด กล่าวเพิ่มเติมว่า คาเมเนอี มีความปรารถนามานาน ที่จะวางตัวมอจตาบา ซึ่งเปรียบเสมือน “นักแสดงหลักในเงามืด” ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา

กระนั้น ฟาตอลเลาะห์-เนจาด เน้นย้ำว่า แม้ผู้นำอิหร่านมีความกังวลเกี่ยวกับ “การปกครองแบบราชวงศ์” แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน การอสัญกรรมของไรซี ส่งผลให้ “ไพ่สืบทอดตำแหน่ง” ของคาเมเนอี ถูกสับเปลี่ยนใหม่ ซึ่งผลที่ได้คือ ความสนใจในตอนนี้จึงกลับไปที่มอจตาบา

ทั้งนี้ การรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่อง เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับผู้นำอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการประท้วงทั่วประเทศ เมื่อปี 2565 ซึ่งเผยให้เห็นถึงความไม่พอใจในกลุ่มคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิง เกี่ยวกับข้อจำกัดทางสังคมในอิหร่าน

แม้อำนาจของประธานาธิบดีอิหร่าน มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของไรซี ยังคงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะเขาเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนที่ 2 ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง ต่อจากนายโมฮัมหมัด อาลี ราไจ ซึ่งถูกสังหารในเหตุวางระเบิดเมื่อปี 2524 หลังเขาดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน

“หากคาเมเนอีถึงแก่อสัญกรรม และ/หรือถ้ามอจตาบา ได้รับการประกาศให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา การประท้วงต่อต้านระบอบการปกครอง ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคำถามใหญ่คือ ในฉากทัศน์ของสุญญากาศทางอำนาจ หรือการตัดสินใจสืบทอดตำแหน่งที่ทำให้เกิดการโต้แย้ง เราจะได้เห็นรอยร้าวภายในระบบอำนาจและความมั่นคง ซึ่งอาจเปิดโอกาศสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือไม่” ฟาตอลเลาะห์-เนจาด กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP