ศึกระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ดูท่าแล้วไม่จบง่าย ๆ หลังจากที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งกันทั้งตัว “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่เหมือนจะมีปัญหาความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง จนกระทั่งล่าสุดฝ่ายการเมืองอย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ามาจุดประเด็นอีกครั้ง โดยตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของ “แบงก์ชาติ” และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

หน้าที่แบงก์ชาติ

ความหมายของการเป็นองค์กรอิสระของแบงก์ชาติ แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร ยังเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมาเป็นระยะ ๆ แต่หน้าที่หลักของแบงก์ชาติ ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 คือ มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งตามหลักการทั่วไปธนาคารกลางทุกแห่ง คือ การกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้

ขณะเดียวกันยังต้องดำเนินการไป พร้อม ๆ กับการรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหากขาดเสถียรภาพไปเมื่อใด สถานการณ์อาจลุกลามใหญ่โตจนเกินห้ามและกลายเป็นวิกฤติการเงินที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนได้ทันทีเช่นกัน

นอกจากนี้ยังกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และนโยบาย หลักเกณฑ์ รวมถึงกำกับตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ ฐานะมั่นคง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ

สาเหตุรอยร้าว

ย้อนรอยความขัดแย้ง “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ” มีเรื่องหลัก ๆ อยู่ 4 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องแรก ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินมาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลปรับเปลี่ยนรูปแบบแหล่งที่มาของเงิน จากการกู้ 500,000 ล้านบาท เป็นการใช้เงินงบประมาณปี 2567 รวมไปถึงงบประมาณปี 2568 และการใช้เงินสภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. ขณะที่แบงก์ชาติ ย้ำว่า ไม่ได้มีปัญหากับโครงการ แต่ควรแจกเฉพาะกลุ่มอย่างคนรายได้น้อยที่ใช้เงินน้อยกว่ามาก รวมทั้งเสนอมุมมองให้เห็นชัด ๆ ว่าเงินที่นำไปใช้แจกจำนวน 500,000 ล้านบาทนั้น สามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประเทศได้อีกหลายโครงการ

เรื่องที่ 2 แบงก์ชาติ ไม่ยอมลดดอกเบี้ย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ ได้พูดกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยมาตลอด เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนกู้เงิน, ลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ และอาจรวมถึงลดต้นทุนกู้เงินของรัฐบาลที่ต้องการมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต จนนายกฯ เศรษฐา เรียกนายแบงก์ 4 ธนาคารใหญ่ ขอร้องให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ช่วยกลุ่มเปราะบาง โดยธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ 0.25% นาน 6 เดือน เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง คนมีบ้าน และบรรดาผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย และเอสเอ็มอี

ขณะที่เรื่องที่ 3 แบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น แจกเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เพราะมองว่าปัจจุบันราคาข้าวสูง ค่าปุ๋ยถูก และยังกังวลปัญหามอรัลฮัดซาร์ด หรือพฤติกรรมผิด ๆ ที่รอความช่วยเหลือซ้ำซ้อน ล่าสุดเรื่องที่ 4 การเมืองตั้งคำถามความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ที่กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาอีกระลอกแบบไม่มีใครคาดคิด เพราะก่อนหน้านี้แม้มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็เกิดขึ้นเป็นระลอก ๆ ไป ๆ มา ๆ แบบบางคนถึงกับลืม หรือคิดว่า “จบเรื่อง” ไปแล้วด้วยซ้ำ!!

เรื่องร้อน!! ที่เหมือนเป็นหัวเชื้อเพลิงขึ้นมาอีก ก็จากกรณี ที่ “อิ๊งค์-แพทองธาร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีพูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ จนทำให้บุคคลหลากหลายวงการ แสดงความเห็นออกมาปกป้องและเห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติกันเป็นแถว

ต้องตอบสนอง

ทางด้าน “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ป้ายแดง ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องปกติที่รมว.คลังต้องพูดคุยกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่อง ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน และคุ้นดีกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพราะทำงานอยู่ในแวดวงที่ไม่ต่างกัน เพียงแต่ต่างกันที่อายุเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็น ผมคิดว่าทุกคนมีมุมมองของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือว่า ต้องมานั่งคุยกัน หาจุดยืน ตกผลึก นำข้อเท็จจริงมาวาง แล้วร่วมกันแก้ปัญหาให้ประเทศ แก้ปัญหาให้ประชาชน

รองนายกฯและรมว.คลัง พูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติว่า ทุกวันนี้อิสระอยู่แล้ว ซึ่งความอิสระหมายความว่า มีอิสระทางความคิด มีอิสระในการวิเคราะห์ มีอิสระที่จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ทางเลือกดังกล่าวต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย หรือพูดอีกอย่างคือ ต้องตอบสนองความต้องการของคนที่มาทำงานแทนประชาชนด้วย

4 ผู้ว่าการ ธปท.ถูกปลด

หากดูในอดีต!! ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ใครบ้างเคยถูกรัฐบาลสั่งปลด?

เริ่มจาก คนแรก…“โชติ คุณะเกษม” ผู้ว่าการธปท. คนที่ 9 ​ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 ก.ค. 2501-3 พ.ค. 2502​ ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี สาเหตุเนื่องจากพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร ต่อมา คนที่ 2 “นุกูล ประจวบเหมาะ” ผู้ว่าการธปท. คนที่ 13 ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 พ.ย. 2522-13 ก.ย. 2527​ ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรมว.คลัง ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากนายนุกูล อยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน

คนที่ 3 “กำจร สถิรกุล” ผู้ว่าการธปท. คนที่ 14 ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 ก.ย. 2527-5 มี.ค. 2533 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรมว.คลัง สาเหตุเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ คนที่ 4 “...จัตุมงคล โสณกุล” หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการธปท. คนที่ 19 ดำรงตำแหน่งวันที่ 7 พ.ค. 2541-30 พ.ค. 2544​ ถูกปลดในสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรมว.คลัง ในยุคนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุคาดว่ามาจากความขัดแย้งนโยบายเรื่องค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย และอื่น ๆ ที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน

เหตุผลพ้นตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 กรณีผู้ว่าการธปท.ถูกปลด หรือพ้นจากตำแหน่ง นอกเหนือจากกรณี ตาย ลาออก และขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

นอกจากนี้ ยังให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ซึ่งต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท. มีความเห็นว่าการตัดสินดังกล่าวไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ธปท. กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ด้วย

ทำให้ปัจจุบันกฎหมายแบงก์ชาติ ระบุถึงสาเหตุของการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติไว้ว่า จะต้องพิสูจน์ได้ว่าประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้การปลดตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติทำได้ยากขึ้น และแตกต่างจากในอดีตค่อนข้างมาก”

สรุปสุดท้ายจะมีการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหรือไม่ หรือจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ตัดขาดจากความเป็นองค์กรอิสระ ให้ชัดเจนตามที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ เป็นเรื่องร้อน ๆ ที่ต้องจับตาดูว่า “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.คลัง คนที่ถูกวางตัวมาโดยเฉพาะ จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร?.