แม้หมู่เกาะคานารี นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านภูมิประเทศแบบภูเขาไฟ และแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก แต่ประชาชนในพื้นที่มีความไม่พอใจกับการหลั่งไหลของผู้มาเยือน ซึ่งมากขึ้น “เกินไป”

พวกเขาต้องการให้ทางการสเปน ระงับการก่อสร้างโรงแรมใหม่ 2 แห่ง บนเกาะเตเนริเฟ ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุด และมีการพัฒนามากที่สุด ในบรรดาเกาะ 7 แห่งของหมู่เกาะคานารี พร้อมกับเรียกร้องให้คนในท้องถิ่น แสดงความเห็นมากขึ้นต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การพัฒนาที่ไม่มีการควบคุม” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อปีที่ผ่านมา หมู่เกาะคานารี ต้อนรับนักท่องเที่ยวราว 16 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 7 เท่าของจำนวนประชากรในหมู่เกาะ ซึ่งนายวิกเตอร์ มาร์ติน โฆษกของกลุ่มผู้ประท้วง กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากทรัพยากรที่จำกัดของหมู่เกาะ โดยเขาเรียกมันว่าเป็น “โมเดลการเติบโตแบบฆ่าตัวตาย”

อนึ่ง ความเคลื่อนไหวต่อต้านนักท่องเที่ยวที่คล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ในสเปน รวมถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ประตูของที่พักนักท่องเที่ยวหลายแห่งในท่าเรือมาลากา บนเกาะคอสตาเดลโซล ทางตอนใต้ของสเปน มีสติกเกอร์ซึ่งระบุว่า “ที่นี่เคยเป็นบ้านของฉัน” และ “กลับบ้านไป”

สำหรับเมืองบาร์เซโลนา และหมู่เกาะแบลีแอริก กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างตั้ง “ป้ายปลอม” บริเวณทางเข้าของชายหาดยอดนิยมบางแห่ง ซึ่งมีข้อความเตือนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ระวังหินถล่ม” หรือ “มีแมงกะพรุนอันตราย”

ขณะเดียวกัน ชาวสเปนจำนวนมาก แสดงความไม่พอใจต่อแพลตฟอร์มให้เช่าที่พักระยะสั้น เช่น แอร์บีเอ็นบี ซึ่งมีรายชื่อที่พักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย และทำให้ค่าเช่าพุ่งสูง โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมือง นอกจากนี้ การหลั่งไหลเข้าของนักท่องเที่ยว ยังเพิ่มมลพิษทางเสียง และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้ทรัพยากรสำคัญบางอย่าง อาทิ น้ำ

ทั้งนี้ การประท้วงต่อต้านปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองในสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนา เคยเกิดขึ้นก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อปี 2563 แต่ภายหลังการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสเปน ก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ถึง 85.1 ล้านคน ในปีที่แล้ว

ปรากฏการณ์ข้างต้นทำให้หลายเมืองของสเปน ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อพยายามจำกัดความแออัดยัดเยียด ไม่ว่าจะเป็น การจำกัดขนาดของกลุ่มนักท่องเที่ยวใจกลางเมือง, การห้ามใช้ลำโพงระหว่างการนำเที่ยว, การคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือแม้แต่การลบเส้นทางรถบัสยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ออกจากกูเกิลแม็พ เพื่อพยายามเพิ่มพื้นที่ให้กับชาวสเปนในท้องถิ่น

ขณะที่ นางอิซาเบล โรดริเกซ รมว.การเคหะสเปน กล่าวว่า มันมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อจำกัดจำนวนที่พักนักท่องเที่ยว แต่รัฐบาลมาดริด ก็ตระหนักถึงความสำคัญของภาคส่วนการท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากมันคิดเป็น 12.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี).

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP