ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 พีไอเอฟ ยังจ่ายเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37,000 ล้านบาท) เพื่อซื้อหุ้น 2% ใน “รีไลแอนซ์ อินดัสทรีส์” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเจ้าของธุรกิจอีสปอร์ต ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของอินเดีย อีกทั้งภายหลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เยือนกรุงริยาดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2565 พีไอเอฟ ก็ใช้เงิน 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,000 ล้านบาท) เพื่อซื้อหุ้นของบริษัท วีเอสพีโอ ซึ่งเป็นบริษัทอีสปอร์ตของจีนด้วย

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบีย กำลังให้เงินทุน และจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน “อีสปอร์ตส์ เวิลด์ คัพ” (Esports World Cup) ครั้งใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ที่ “กิดดิยา” โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่จะกลายเป็นเมืองแห่งกีฬาและความบันเทิงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยภายในจะมีโซนอีสปอร์ตและเกม รวมถึงสนามกีฬาที่รองรับผู้มาเยือนได้มากถึง 73,000 คน

แม้ขนาดการใช้จ่ายของซาอีดิอาระเบีย อาจดูเหมือนเป็น “การบริจาค” แต่มันมีเหตุผลเชิงกลยุทธ์อยู่ เนื่องจากการประมาณการชี้ให้เห็นว่า ตลาดอีสปอร์ตทั่วโลกในปัจจุบัน มีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55,600 ล้านบาท) ทว่าตัวเลขข้างต้นอาจเพิ่มเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 260,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม กิจการของซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน หรือความทะเยอทะยานในวัยเด็กที่แปลกประหลาด เพราะแท้จริงแล้ว อีสปอร์ตได้กลายเป็นเครื่องมือนโยบายที่ทรงพลัง ซึ่งซาอุดีอาระเบียนำไปใช้เพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ทรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบางคนมองว่า มันเป็นการเตรียมการสำหรับอนาคตหลังยุคน้ำมัน ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ถือเป็นการเพิ่มกลยุทธ์อำนาจอ่อน หรือซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศอีกชั้นหนึ่งเช่นกัน

ประชากรของซาอุดีอาระเบีย ในสัดส่วน 70% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ “เจนแซด” ที่มีอายุ 35 ปีหรือต่ำกว่า ซึ่งพวกเขาเกิดและเติบโตมากับอินเทอร์เน็ต, สื่อสังคมออนไลน์ และเกมคอนโซล ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมอีสปอร์ตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเป็นหนทางหนึ่งในการตอบสนอง ความต้องการของชาวซาอุดีอาระเบียเจนแซด, การสร้างความมั่นคงทางสังคม และการรักษาฐานอำนาจของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด

ทั้งนี้ ความสำเร็จของเกมเมอร์ มีความสำคัญต่อซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเปรียบเสมือน “ฮีโร่” และสัญลักษณ์ที่ช่วยรักษาทั้งอีสปอร์ต และโครงการการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ อีกทั้งการได้รับชื่อเสียงในระดับโลก ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ และฟื้นฟูชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งทำให้ประเทศมีความชอบธรรม ความน่าดึงดูด และความสัมพันธ์มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผลประโยชน์ระยะยาวต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการเป็นผู้จัดงาน และศูนย์กลางเชิงพาณิชย์ ก็มีนัยสำคัญสำหรับซาอุดีอาระเบียเช่นกัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES