ทั้งนี้ ภัยแผ่นดินไหว เป็นอีกหนึ่ง ภัยอันน่าสะพรึงกลัวของมวลมนุษยชาติ!! มายาวนานจวบจนทุกวันนี้ โดยที่… ประมาณ 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากข้อมูลที่เคยมีการระบุไว้ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี…

วงแหวนแห่งไฟนั้น เป็นพื้นที่เสี่ยง

เสี่ยงสูงต่อการ เกิดแผ่นดินไหวใหญ่

แต่กระนั้น บริเวณอื่นใช่ว่าจะไม่เสี่ยง

ทั้งนี้ พลิกแฟ้ม-พลิกปูมดูเรื่องราวเกี่ยวกับ วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire)” จากข้อมูลที่เคยมีการระบุไว้ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี โดยสังเขปมีว่า… วงแหวนแห่งไฟนั้นเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิด แผ่นดินไหว และ ภูเขาไฟระเบิด บ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก วงแหวนแห่งไฟมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ทั้งหมด 452 ลูก เป็นพื้นที่ที่ มีภูเขาไฟคุกรุ่นจำนวนมาก

มีกว่า 75% ของภูเขาไฟที่คุกรุ่นทั่วโลก!!

วงแหวนแห่งไฟ นั้นเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก แบ่งเป็น… ส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอส ที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้, ส่วนแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา มุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ, ส่วนทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของญี่ปุ่น, ส่วนใต้ของวงแหวน เป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ในฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และนิวซีแลนด์ อีกทั้งวงแหวนยังมีแนวต่อไปเป็นแนวอัลไพน์ (อีกหนึ่งแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหว) เริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย

โฟกัสที่ รอยเลื่อน ที่ตั้งอยู่บน วงแหวนแห่งไฟ ประกอบด้วย… รอยเลื่อนซานอันเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเกิดแผ่นดินไหวระดับเล็ก ๆ เป็นประจำ, รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลอมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ แผ่นดินไหวระดับ 7 เมื่อปี ค.ศ. 1929 ระดับ 8.1 ในปี ค.ศ. 1949 (เป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในแคนาดา) ระดับ 7.4 ในปี ค.ศ. 1970

สำหรับเหตุการณ์ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณแนว วงแหวนแห่งไฟ ก็อย่างเช่น… แผ่นดินไหวคาสคาเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1700 ซึ่งเป็นระดับ 9, แผ่นดินไหวโลมาพรีเอตา ในแคลิฟอร์เนีย, แผ่นดินไหวภาคคันโต ในญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1923 มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน, แผ่นดินไหวเกรตฮันชิน ในปี ค.ศ. 1995 และรวมถึงอีกครั้งใหญ่ที่เคยบันทึกไว้คือแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย เป็นแผ่นดินไหวระดับ 9.3 ซึ่งทำให้เกิด คลื่นยักษ์สึนามิ พัดถล่มบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอินโดนีเซียถูกถล่มด้วยคลื่นสูงราว 10 เมตร มีผู้เสียชีวิตไปราว 230,000 คน ขณะที่

ในไทยก็สูญเสีย-เสียหาย อย่างมาก!!

ในส่วนของประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนว วงแหวนแห่งไฟ จากแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่าได้แก่… โบลิเวีย, เบลีซ, บราซิล, แคนาดา, โคลอมเบีย, ชิลี, คอสตาริกา, เอกวาดอร์, ติมอร์ตะวันออก, เอลซัลวาดอร์, ไมโครนีเซีย, ฟิจิ, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, คิริบาตี, เม็กซิโก, นิการากัว, ปาเลา, ปาปัวนิวกินี, ปานามา, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, ซามัว, หมู่เกาะโซโลมอน, ตองกา, ตูวาลู, สหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์ …ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ตุรกี และซีเรีย ไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าวนี้…แต่ก็เกิด วิปโยคแผ่นดินไหว ขึ้นได้!!

ทั้งนี้ แผ่นดินไหว นั้น เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่ เกิดการเลื่อน แตกหัก เกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน ซึ่งนักธรณีวิทยาประมาณว่า…วันหนึ่ง ๆ โลกเกิดแผ่นดินไหวราว 1,000 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการสั่นสะเทือนแค่เบา ๆ โดย จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวมักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในความลึกระดับต่าง ๆ ของผิวโลก ซึ่งแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นจะหนาต่างกัน และมีส่วนประกอบทางกายภาพและทางเคมีที่ต่างกัน เมื่อเคลื่อนที่ก็จะเกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงต่างกัน …นี่ก็ข้อมูลจำเพาะ ภัยแผ่นดินไหว

และที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนย้ำไว้ก็คือ… ไทยก็ไม่ได้อยู่ไกลมากจากประเทศที่ตั้งในวงแหวนแห่งไฟ นั่นคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อีกทั้งประเทศใกล้ ๆ ไทยก็มีแนวแผ่นดินไหว-แนวรอยเลื่อน คือ เมียนมา สปป.ลาว และ จีน ทางตอนใต้ และที่สำคัญ ในประเทศไทยก็มีแนวรอยเลื่อนที่สามารถจะเกิดแผ่นดินไหวได้ อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ลงไปถึงภาคใต้ ซึ่งรอยเลื่อนที่มีพลัง ได้แก่ รอยเลื่อนเชียงแสน, รอยเลื่อนแพร่, รอยเลื่อนแม่ทา, รอยเลื่อนเถิน, รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์, รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์, รอยเลื่อนระนอง, รอยเลื่อนคลองมะรุย ทั้งนี้…

แผ่นดินไหว นี่ก็ ภัยที่มนุษย์สยบมิได้

ในไทย ก็ ประมาทแผ่นดินไหวไม่ได้

ได้แต่ ภาวนา…ขออย่าไหวขั้นวิปโยค”.