ประเทศไทยมีความโดดเด่นหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เมนูอาหารไทยหลายเมนูในปัจจุบันนี้กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนไปทั่วทั้งโลก จนนักเดินทางหลายคนต่างอยากเดินทางมาลิ้มลองให้ได้สักครั้งในชีวิต
นอกจากร้านอาหารชื่อดังมากมายแล้ว ร้
านอาหารริมทาง หรือ สตรีทฟู้ด ของไทยก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน แถมร้านอาหารริมทางบางแห่ง บางย่าน ก็ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวไปแล้ว
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเองต่างก็พยายามประชาสัมพันธ์ ทำข้อมูล หรือแนะนำร้านอาหารริมทางต่าง ๆ มาอย่างมากมาย ครอบคลุมไปทุก ๆ เมนู หลายราคา หลายรสชาติ แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไปนั่นก็คือ ความปลอดภัย และความสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จำเป็นต้องมีสำหรับร้านขายอาหารริมทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
“ปากท้องต้องรู้” ได้ข้อมูลสำคัญถึงการผลักดันเรื่องนี้ ให้มีมาตรฐาน สามารถสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนได้มากยิ่งขึ้น เลยอยากเอามานำเสนอกันต่อ เพื่อจะได้เป็นความรู้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารริมทางได้รู้กัน
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ณ ปัจจุบัน ได้มีการเข้าไปส่งเสริมการสร้างต้นแบบอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะอาหารริมทาง ตามข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือน ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจมีความเสี่ยง จากเชื้อโรค สารเคมี หรือโลหะหนัก และความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงฉับพลัน ได้หากไปรับประทานอาหารในร้านที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนาแนวทางการดูแล โดยพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ ใช้ป้ายสัญลักษณ์
อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ (Street Food Good Health) ซึ่งแสดงถึงสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหาร และ พร้อมสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดความตื่นตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาตลาดนัดให้ถูกต้องตามกฎหมายจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ตามเกณฑ์มาตรฐาน มีด้วยกัน 4 มิติ คือ
1. มิติด้านสุขภาพ โดยหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายอาหารในที่หรือทางสาธารณะ และกำหนดจุดผ่อนผันที่อนุญาตให้ตั้งวางแผงลอยจำหน่ายอาหาร ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสะอาด รสชาติอร่อย ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ มีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร
2. มิติด้านเศรษฐกิจ โดยราคาถูก (หนูณิชย์ติดดาว) ติดป้ายแสดงราคา มีป้ายบอกชื่อร้านหรือแผงจำหน่าย อย่างน้อย 2 ภาษา ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
3. มิติด้านสังคม โดมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP SME ผู้สูงอายุ ผู้พิการ Young Smart Famer ออร์แกนิกธรรมชาติ
4. มิติด้านวัฒนธรรม โดยมีการจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน การแต่งกายประจำถิ่น และมีการแสดงวัฒนธรรมประจำถิ่น ป้าย Story Culture โดยมีถนนอาหารริมบาทวิถีที่เข้าร่วมการพัฒนาในปี 2561 -2563 จำนวน 24 จังหวัด มีแผงลอยจำหน่ายอาหารจำนวน 2,900 แผง
การสร้างมาตรฐานทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทุกคนทั้งคนไทย และต่างชาติที่มาลิ้มรสอาหารไทยริมทาง นอกจากจะได้อิ่มอร่อยแล้ว ยังมีสุขภาพที่ดีไม่มีความเสี่ยง ที่สำคัญ... ยังช่วยสร้างความประทับใจให้หลาย ๆ คนได้กลับมาเยือน หรือมาชิมอาหารอีกหลาย ๆ ครั้งอีกด้วย