เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ศาลปกครอง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กว่า 13 พื้นที่ พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2

นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันเหมืองในประเทศไทยมี 4,388 แห่ง เกือบ 1 ใน 3 กำลังดำเนินการอยู่ และสร้างผลกระทบในหลายพื้นที่ จึงนำมาสู่การฟ้องร้องจากความไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3 ประเด็น 1. พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 17 ที่ให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการศักยภาพแร่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หรือแหล่งแร่ที่ควรสงวนหวงห้ามอนุรักษ์ไว้ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า โบราณสถาน พื้นที่ที่กฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ความมั่นคงแห่งชาติ และพื้นที่ป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 17 วรรค 4 ซึ่งในการจัดทำแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ไม่มีการตัดพื้นที่ต้องห้ามกำหนดของกฎหมาย ทำให้บางพื้นที่ขนาดเป็นแหล่งโบราณคดีและถูกขึ้นทะเบียนก็ยังถูกประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองอยู่ และที่มีปัญหามากคือ ป่าต้นน้ำ แหล่งน้ำซับซึม หน่วยงานให้เหตุผลว่าไม่สามารถที่จะให้คำนิยามได้ มีระบบนิเวศแตกต่างกัน ให้นิยามต่างกัน สร้างผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน

ประเด็นที่ 2 ในการจัดทำแผนแม่บทแร่ฉบับใหม่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย บางพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับรู้รับทราบ มีบางพื้นที่ไม่เคยได้รับจดหมาย รู้ตัวอีกทีตอนที่จะมีการมาฟ้องแล้ว และ 3.รัฐไปให้สัญญากับประชาคมโลกถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แต่กลับละเมิดสิทธิมนุษยชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งควรจะยึดหลักป้องกันปัญหา ไม่ใช่ปล่อยปัญหาแล้วมาตามเยียวยาในภายหลัง

นี่เป็นประเด็นสำคัญว่า มาตรา 17 กำหนดให้ คนร.จัดทำแผนแม่บทและเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำทั้งหลายนี้ไม่ได้มีการทบทวนเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ไม่ได้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจึงฟ้องในคดีนี้ 2 หน่วยงาน คือ คณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นคนที่เห็นชอบในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และฟ้อง คนร.ที่จัดทำแผนแม่บทและเสนอต่อ ครม. โดยข้อให้ศาลพิจารณา 1. ให้มีการเพิกถอนมติ ครม.ที่เห็นชอบแผนแม่บทฉบับนี้  2. ให้มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ขึ้นใหม่โดยให้มีกระบวนการทบทวน สำรวจ และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ให้ประชาชนตัดสินใจจริงๆ  ทั้งนี้ หวังว่าศาลปกครอง จะมีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว มีการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างรวดเร็วก่อนที่แผนแม่บทฉบับที่ 3 ฉบับที่ 4 ต่อไปที่จะมีโดยเอาเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเดิมที่ไม่ได้ถูกทบทวนและไม่ได้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้าไปบรรจุไว้แล้วเกิดผลกระทบอีก.