สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ว่าพ.อ.พิเศษ จาง เสี่ยวกัง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวถึงการที่กองทัพปลดปล่อยประชาชน (พีแอลเอ) ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ติดตั้งหัวรบหลอก ในเขตทะเลหลวงของมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าเป็นการดำเนินการ “ที่ชอบธรรมและเป็นไปตามแผนการ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ทดสอบประสิทธิภาพด้านอาวุธและทางยุทธวิธี”


โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนยืนยันว่า นโยบายนิวเคลียร์ของรัฐบาลปักกิ่ง “คาดเดาได้ มีเสถียรภาพ และมีความสม่ำเสมออย่างมาก” แผนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของจีน “คือการป้องกันตนเอง” ดังนั้น ไม่มีทางที่จีนจะเป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน และรัฐบาลปักกิ่งไม่มีนโยบายสะสมอาวุธแข่งกับประเทศใด


ทั้งนี้ จีนยืนยันว่า มีการแจ้งให้ประเทศซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีการทดสอบขีปนาวุธ ได้รับทราบกำหนดการล่วงหน้า ซึ่งสหรัฐและดินแดนเฟรนช์โปลินีเซียของฝรั่งเศสยืนยันการได้รับข้อมูลจริง ขณะที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีท่าทีไม่ค่อยพอใจมากนัก
อนึ่ง จีนไม่ได้เปิดเผยเกี่ยวกับรุ่นของไอซีบีเอ็มซึ่งใช้ทดสอบครั้งนี้ แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นขีปนาวุธ “ตงเฟิง-31เอจี” ซึ่งมีการเปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี 2560


อย่างไรก็ดี การทดสอบไอซีบีเอ็มโดยจีนเกิดขึ้นแทบไม่บ่อยครั้งนัก โดยนับตั้งแต่ทดสอบครั้งแรกในเขตทะเลทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 พีแอลเอยังคงดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของไอซีบีเอ็ม แต่ฝึกซ้อมในประเทศ


ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่รายงาน เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ว่าด้วย “พัฒนาการทางทหารและความมั่นคงของจีน” คาดการณ์จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีน “มากกว่า 500 ลูก” เมื่อเดือน พ.ค. 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ช่วยเสริมสร้างให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองเพิ่มเป็น 1,000 หัว ภายในปี 2573 และ “หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางใด” จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีนจะเพิ่มเป็น 1,500 ลูก ภายในปี 2578 “ซึ่งเร็วกว่าที่สหรัฐคาดการณ์ไว้มาก”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES