เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่โซเชียลมีการแชร์ภาพดินถล่มจากภูเขาที่มีหมู่บ้านตั้งอยู่ พร้อมระบุข้อความว่า “ต่อให้มีป่า น้ำก็มาอยู่ดี” โดยมีทั้งกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น ว่า เรื่องนี้ถือเป็นความคิด และเป็นการเผยแพร่ความเชื่อที่อันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ยิ่งมีการแชร์ในโลกโซเชียล และมีคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เชื่อกันมากนั้น เป็นเรื่องน่าคิดว่า เพราะอะไรทำไมถึงได้เชื่อกันแบบนั้น

“สิ่งที่คนพยายามปลุกปั่นเรื่องนี้ว่า ถึงมีป่า น้ำก็บ่าไหลลงมาท่วมอยู่ดี อันนี้ผมไม่เถียง แต่มีความจริงที่มากกว่านั้นคือ ถ้ามีป่า โดยเฉพาะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ น้ำป่าจะไม่ไหลลงมามากขนาดนี้ ในขณะเดียวกันก็จะไม่มีดินและโคลนไหลลงมาตามมามากมายขนาดนี้ด้วย เพราะ รากไม้ จากไม้ป่ายืนต้นจะคอยดูดซับและชะลอการไหลของน้ำไม่ให้เกิดความรุนแรงอย่างที่เราเห็น” นายอรรถพล กล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ  กล่าวว่า จากภาพที่เห็นนั้น พื้นที่เหนือจากบริเวณนั้น เป็นเขาหัวโล้น และช่องว่างที่มองเห็นก็เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดจำนวนมาก น้ำและดินส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เกษตรบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะพื้นที่ทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวแล้วพื้นที่เหล่านี้เดิมเป็นป่า น้ำที่ไหลบ่าออกมาจากป่าจะมีปริมาณดินน้อยกว่าน้ำที่ไหลบ่าผ่านพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวหลายเท่า ยิ่งถ้าเป็นป่าสมบูรณ์น้ำจะใส ลองไปดูที่ดอยอินทนนท์น้ำที่ไหลจากป่าต้นน้ำยอดดอยจะใส จริงที่เมื่อปริมาณน้ำป่ามากจะมีสีขุ่นดินแต่ปริมาณดินที่ปนมากับน้ำน้อยกว่าที่ไหลมาจากพื้นที่เขาหัวโล้นหรือเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะป่าก็ยังอุ้มดินไว้ได้ ต่างจากที่ดินภูเขาที่ถูกบุกรุกไม่มีป่าอุ้มดินไว้

นายอรรถพล กล่าวว่า ปริมาณตะกอนจากน้ำท่วม จ.เชียงราย จากตัวอย่างทั้งหมด 6 จุด  มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่  2.81 กรัม/ลิตร  แบ่งเป็น แม่น้ำแม่จัน 2.96 กรัม/ลิตร แม่น้ำแม่สาย 2.87 กรัม/ลิตร แม่น้ำแม่กก 2.97 กรัม/ลิตร คลองหลัง สบอ.15  2.99 กรัม/ลิตร 

เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนี้แสดงว่าในอนาคตหากฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่เชียงราย และ จ.พะเยา จะทำให้น้ำลดลงช้า และสถานการณ์ในปีถัดไปจะเลวร้ายมากขึ้นใช่หรือไม่ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำป่าที่มาพร้อมกับดินจะหนักยิ่งๆ ขึ้นเพราะลำห้วยตลอดจนถึงแม่น้ำลำคลองและเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเต็มไปด้วยดิน ดังนั้นความสามารถในการรองรับน้ำลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปีแม่น้ำลำคลองตื้นเขินจุน้ำได้น้อย น้ำจะเอ่อล้นท่วมเร็วขึ้นทุกๆ ปี เพราะตะกอนดินสะสมมากขึ้นทุกปี ยิ่งถ้าปริมาณน้ำฝนมากยิ่งหนักขึ้นกว่าปกติอีก นี่ขนาดยังไม่เจอพายุลูกใหญ่ ทั้งหมดนี้ สาเหตุเกิดจาก 1.ป่าเริ่มลดลงและความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มีอยู่ก็น้อยลง เพราะถูกลักลอบตัดไม้ใหญ่ออก รวมทั้งการเกิดไฟป่าซ้ำทุกๆ ปีทำให้ความสามารถในการอุ้มดินและน้ำลดลง 2.พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูงชันหรือพื้นที่ต้นน้ำมีมากขึ้น

เมื่อถามว่าการบุกรุกพื้นที่สูงเพื่อเข้าไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ต้องดูแลใช่หรือไม่ เหตุใดจึงปล่อยให้มีการบุกรุกได้  นายอรรถพล กล่าวว่า พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ภายในการรับรองตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และอยู่มาก่อนปี 2552 มีหลายหน่วยงานดูแล ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ที่ราชพัสดุ และที่ทหาร ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ กรมอุทยานฯ ดูแลอยู่ 4.27 ล้านไร่ ซึ่งมี 15% อยู่บนที่สูง และเป็นที่ป่าที่กรมป่าไม้ดูแลอยู่อีก 10 ล้านไร่

“สิ่งที่กรมอุทยานฯ พยายามทำคือ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรพยายามให้ชาวบ้านเหล่านี้ ทำวนเกษตร คือ ปลูกพืชแบบผสมผสาน เน้นการปลูกพืชยืนต้นที่สามารถยึดหน้าดินได้ ร่วมกับปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเน้นการปลูกแบบขั้นบันได เป็นหลัก แต่ยอมรับว่า เมื่อมีนายทุน ให้เมล็ดพันธุ์ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลงทุนน้อยใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยว เขาก็จะเลือกอย่างหลังมากกว่า สำหรับพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยตามกฎหมายที่กรมอุทยานฯ ดูแลอยู่นั้น ได้มีการขีดเส้นเอาไว้ชัดเจน ห้ามรุกเพิ่ม ถ้ารุกเพิ่มเราจับทันที ซึ่งเมื่อเข้าไปจับก็มีการประท้วงว่าเรารังแกประชาชน เราไม่อยากใช้ความรุนแรงแต่ผลของการกระทำก็ออกมาอย่างที่ทุกคนเห็นแล้ว” อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าว.