นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง” ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “เสื่อกกนาหมอม้า” เป็นสินค้า GI ตัวแรกประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 208 สินค้า มูลค่ารวมกว่า 73,000 ล้านบาทต่อปี        

“เสื่อกกนาหมอม้า” คือ เสื่อกกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกที่ทอเสื่อด้วยมือ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีพื้นที่เป็นที่ลุ่มและมีเนินเขาเตี้ยๆ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน และมีลำน้ำอยู่ทั่วทั้งจังหวัด ดินสามารถกักเก็บความชื้นได้ดีและมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกก

ทำให้ต้นกกนาหมอม้า มีความแกร่ง และเหนียวทนทาน เหมาะที่จะนำมาทอเสื่อ และตัด เย็บ โดยใช้จักรอุตสาหกรรม หรือวิธีการเย็บมือ และนำมาย้อมสี เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เบาะรองนั่ง แผ่นรองจาน ที่คลุมเก้าอี้ กล่องอเนกประสงค์ เป็นต้น ชาวบ้านนาหมอม้ายังสามารถออกแบบลวดลายของเสื่อกกได้มากกว่า 200 ลาย เช่น ลวดลายสร้างสรรค์ลายภาพสัตว์ต่างๆ อาทิ ผีเสื้อ นกยูง หงส์ หรือตัวอักษรชื่อบุคคล โลโก้บริษัท

รวมไปถึงการมัดย้อม มัดหมี่ ลายขอ ลายไท เป็นต้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นอาชีพเสริมที่ทำให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้เสริมตลอดทั้งปี เสื่อกกนาหมอม้ายังได้รับ รางวัลชนะเลิศงานหัตถกรรมฝีมือของชุมชนทุกปี อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสื่อกกจากชุมชนนาหมอม้ายังได้ไปจัดแสดงในงานระดับประเทศ เช่น งานมอบรางวัลหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทางแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง พ.ศ. 2526 และการประชุมเอเปค พ.ศ. 2549 เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ทั้งนี้ กรมฯ ขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368