ฮือฮาไม่น้อยสำหรับการประกาศทำสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หวยเกษียณ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ของ รมช.คลัง เผ่าภูมิ โรจนสกุล เพราะเรื่องนี้แม้จะเคยบรรจุเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงมาก่อน แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เพราะส่วนใหญ่มักมุ่งเป้าไปแต่เรื่องเงินดิจิทัลเป็นหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า  เรื่องหวยเกษียณ กับปัญหาการออมในวันนี้ เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่

ปัญหาสังคมไทยแก่แต่จน

เห็นได้จากในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา การที่คนไทยมีอัตราการออมต่ำ ทำให้ประชาชนไม่สามารถแบกรับวิกฤติได้ไหว ผ่านมาถึงวันนี้ยังมีหนี้สินจำนวนมาก ขณะที่การพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาล รอการแจกเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้นาน เพราะการแจกแต่ละทีต้องกู้มาแจก กลายเป็นภาระสะสมทางงบประมาณ จนถึงตอนนี้ตัวรัฐบาลเองก็ติดบ่วงหนี้ กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก จนต้องเสียรังวัดขาดวินัยการคลัง ทำลายเพดานหนี้สาธารณะไป

นอกจากนี้ ในวันนี้เมืองไทยก็กำลังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ คือ มีประชากรเกิน 20% เป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สวนทางกับเด็กเกิดใหม่ที่เกิดลดลง ส่งสัญญาณร้ายถึงอนาคตว่า รัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุเยอะขึ้น สวนทางกับรายได้ที่จะหาได้ลดลง เพราะมีคนรุ่นที่เป็นกลุ่มแรงงานเหลือน้อย ทำให้การเสียภาษีลดลงตาม 

สถิติอาชีพอิสระออมต่ำ 

ดังนั้นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ระยะยาว และไม่เป็นภาระงบประมาณเกินไป คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีการออมเพิ่ม เพื่อใช้เป็นหลักประกันในยามเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางโครงสร้างในการออมเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มข้าราชการ ตรงนี้ไม่น่าห่วง เพราะมีเงินบำเหน็จ บำนาญ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดูแลอยู่แล้ว กลุ่มต่อมาลูกจ้างแรงงานที่มีเงินเดือนประจำ ส่วนนี้ก็มีการออมอยู่ในระบบประกันสังคม

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน การดูแลกลุ่มนี้รัฐบาลได้ดีไซน์ ให้มีกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกอช. ไว้คอยดูแล โดยเปิดให้กลุ่มอาชีพอิสระเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก โดยเมื่อใส่เงินออมเข้าไปแล้ว รัฐบาลจะช่วยให้เงินสมทบเพิ่มเติม ตามสัดส่วนที่ภาครัฐกำหนด 

ฟังหลักการแล้วดูดี แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของความเป็นจริง การออมของกลุ่มอาชีพอิสระ ยังกลายเป็นปัญหาน่าห่วงอยู่โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพค้าขาย ฟรีแลนซ์ รับจ้าง เกษตรกร ยังคงมีสัดส่วนการออมที่ต่ำ และวันนี้มีการสมัครเข้ามาออมกับ กอช.กันน้อย เห็นได้จากตัวเลขกลุ่มอาชีพอิสระที่มีอยู่ทั่วประเทศ 20 ล้านคน แต่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก กอช.จริงไม่ถึง 3 ล้านคนเท่านั้น 

ไทยรั้งไทยระบบบำนาญห่วย

สอดคล้องกับผลศึกษาระบบบำเหน็จบำนาญของไทย ซึ่งถูกจัดอันดับรั้งท้ายจาก 44 ประเทศทั่วโลก โดยสถาบัน เมอเซอร์ระบุว่าไทยอยู่ในอันดับท้ายสุดต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะในอาเซียน แพ้แม้กระทั่ง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้สังคมไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง หากประชาชนไม่มีการออมตั้งแต่วัยทำงานเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุในระดับที่เพียงพอ  คนเหล่านี้จะกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณในที่สุด 

นอกจากนี้ ในการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่าสัดส่วนคนที่มีเงินออม มากกว่า 65% ก็มีเงินออมระดับต่ำกว่า 5,000 บาท ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำเงินออมไปลงทุนที่ถูก  โดยส่วนใหญ่เลือกเก็บเงินไว้กับตัว หรือฝากธนาคาร หรือไม่ก็เลือกนำเงินไปเล่นหวย ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล  สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนไทยกับการเล่นหวยเป็นของคู่กัน

ยืมมือหวยช่วยคนออม

เรียกว่าเกิดมาจากท้องแม่ ก็เล่นหวยเป็นมาตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะด้วยพื้นฐานคนไทยส่วนใหญ่ มีนิสัยรักสบาย หวังรวยทางลัด  หวังเงินรางวัล และชอบเสี่ยงดวง  ดังนั้น จากปัญหาเรื่องการออม และรสนิยมในเรื่องของการชอบวัดดวงของคนไทย จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ตั้งโครงการหวยเกษียณขึ้นมา โดยยืมมือหวยมาเป็นเครื่องมือ ในการช่วยส่งเสริมการออมให้กับคนไทย เพื่อต้องการแก้ปัญหาสังคมสูงวัยในอนาคต

สำหรับรูปแบบของโครงการ หวยเกษียณ หรือสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากนโยบาย หวยบำเหน็จ ของพรรคเพื่อไทย  มีเป้าหมายเข้ามาแก้ปัญหาคนไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยแต่ไร้เงินเก็บ ซึ่งกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ให้มีเงินออมใช้ในยามเกษียณได้เพียงพอ  โดยนำลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยที่มีอยู่แล้ว มาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออม ที่จะนำเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดมาสะสม และถอนออกมาใช้ได้ตอนเกษียณหรือหลังอายุ 60 ปีไปแล้ว โดยผ่านการดำเนินการของกอช. ที่เป็นหน่วยงานสำคัญ หน่วยงานหลักในการดึงดูดให้แรงงานนอกระบบ ให้อาชีพอิสระ หันมาออมเงิน ให้ความสำคัญกับการออมเงินให้มากขึ้น 

หวยเกษียณใบ 50 ลุ้นล้าน

เงื่อนไขเบื้องต้น หวยเกษียณ จะเป็นรูปแบบสลากออนไลน์ ขายผ่านทางแอปพลิเคชันของ กองทุนการออมแห่งชาติ มีลักษณะเป็นสลากขูดแบบดิจิทัล ขายใบละ 50 บาท มีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็น สมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบรวมกว่า 20 ล้านคน ให้มีโอกาสซื้อสลากเพื่อออมได้ทุกวัน แต่มีข้อแม้ว่าจะสามารถออมเงินสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

สัดส่วนการออกรางวัล จะออกสัปดาห์ละครั้ง ทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะสามารถเบิกเงินรางวัลออกมาใช้ได้ทันที โดยมีให้ลุ้น 2 รางวัล รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท สัปดาห์ละ 5 รางวัล รางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท สัปดาห์ละ 10,000 รางวัล โดยในส่วนเงินรางวัลจะใช้งบประมาณของรัฐมาจ่ายปีละ 720 ล้านบาท  ขณะที่เงินค่าซื้อสลาก จะเบิกออกมาใช้ไม่ได้ เพราะจะถูกเก็บเป็นเงินออมของผู้ซื้อ ผ่านการดูแลของ กอช.จนกระทั่งเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จึงจะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาใช้ได้ โดยเงื่อนไขที่ออกมานี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขในเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อปูทางเรียกความอยาก

ฝันให้ไกลไปถึงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ โครงการหวยเกษียณ ยังอยู่ในขั้นตอนของการขายฝัน ตั้งไข่เท่านั้น โดยเป็นแนวคิดของ รมช.เผ่าภูมิ เป็นหลัก หากจะทำออกมาจริง ยังมีขั้นตอนทางกฎหมาย และระเบียบข้าราชการอีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย การศึกษาข้อดีข้อเสียของโครงการ การแก้ไขกฎหมาย กอช. การพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งประเมินว่าจะใช้เวลา 6-12 เดือนเป็นอย่างน้อย

นอกจากนี้ หากกระทรวงการคลังเลือกเดินหน้าทำออกมาจริง ก็มีความเสี่ยงเผชิญความท้าทายจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ค้าลอตเตอรี่ปัจจุบัน รวมถึงเจ้ามือหวยใต้ดินที่อาจได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะไปแย่งลูกค้ากันเอง จนอาจเกิดแรงต่อต้านขึ้นในหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันในตัวสลากเกษียณเอง ก็ยังไม่ชัวร์ว่าทำแล้วจะขายได้หมดไหม เพราะลักษณะของตัวสลาก ก็มีความคล้ายคลึงกับสลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ขายในปัจจุบัน ซึ่งซื้อแล้วเงินต้นไม่หายไปไหนเหมือนกัน

ห่วงไม่ตอบจริตคนไทย

แถมตัวสลากออมสิน ธ.ก.ส. ยังได้แรงจูงใจที่มากกว่า ซื้อครั้งเดียวได้ลุ้นรางวัลนานเป็นปี มีรางวัลใหญ่กว่าให้ลุ้นหลายสิบล้านร้อยล้านบาท แถมใครไม่ถูกก็ยังได้รับดอกเบี้ยเป็นของแถม ยิ่งกว่านั้น ยังรอไม่นาน เพียง 1-2 ปี ก็สามารถนำเงินต้นที่ซื้อสลากออกมาใช้ได้ หรือจะถอนเงินออกมาใช้ยามฉุกเฉินก็ไม่ผิดกติกา แต่ก็ผิดกับหวยเกษียณ ที่ข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เช่น ต้องซื้อทุกงวดถึงได้ลุ้นรางวัล เงินที่ซื้อสลากแม้จะไม่หายไปไหน แต่กว่าจะถอนออกมาใช้ได้ก็ต้องรอจนกว่าถึงอายุ 60 ปีซึ่งนานเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น ตามจริตของคนไทยที่นิยมเสี่ยงโชค โดยมากจะนิยมลุ้นรางวัลจากสลากกินแบ่งรัฐบาลมากกว่า ที่สามารถเลือกเลขที่ต้องการได้ มีเต็ง โต๊ด บน ล่าง ต่างจากการซื้อสลากแบบขูดซึ่งเลือกตัวเลขไม่ได้ และการเสี่ยงโชคก็ขูดจบรู้ผล ไม่เร้าใจอะไร

ดังนั้น หากจะถามว่า โครงการหวยเกษียณ ของกระทรวงการคลังในรอบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการออมได้จริงหรือไม่ ก่อนไปถึงคำถามนั้น ต้องตอบก่อนว่า สลากเกษียณจะทำได้จริงหรือ เพราะ ณ วันนี้ยังมีการบ้านให้ศึกษา ให้ปรับปรุงอีกเพียบ ที่สำคัญความคิดที่จะนำเรื่องออกสลาก หรือหวยมาขายแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าด่านโหดด่านหินมาตลอด ไม่เชื่อไปลองถาม สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดูได้ จนถึงวันนี้ แม้สลากเอ็น2 เอ็น3 จะผ่าน ครม.แก้กฎหมายเสร็จไปแล้ว แต่เรื่องก็ยังคงเงียบเชียบไม่คืบหน้า!!.