เรียน คุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือค่ะ

ดิฉันอายุ 43 ปี สามีอายุ 50 ปี ปัญหาเกิดกับสามีของดิฉันเอง เขาป่วยเป็นเบาหวานมาได้กว่า 3 ปีแล้ว เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวเลย ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายทั้งที่เราทั้งสองยังมีความต้องการทางเพศอยู่ ตอนแรกคิดว่าเหตุเกิดจากตัวดิฉันที่มีอาการตกขาว อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา แต่เมื่อไปรับการตรวจภายในแล้วพบว่าทุกอย่างปกติ และเมื่อพาสามีไปรับการตรวจ แพทย์บอกว่าให้ทำใจเพราะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ย่อมเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมาได้ จึงสงสารสามีมากที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนเดิม อยากขอคำแนะนำจากคุณหมอโอ ว่าพอที่จะมีวิธีรักษาได้บ้างไหม

ด้วยความนับถือค่ะ
จิน 43

ตอบ จิน 43

เบาหวานกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายเป็นของคู่กัน อาการอีดีในผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีอาการเกี่ยวกับการแข็งตัวขององคชาตไม่เต็มที่ เนื่องจากเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดอวัยวะจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีเส้นเลือดไปเลี้ยงที่ดี การแข็งตัวของอวัยวะเพศเกิดจากการที่มีหลอดเลือดไปรวมคั่งอยู่ในอวัยวะเพศซึ่งทำให้เกิดการแข็งตัว ถ้าเส้นเลือดมีปัญหาเลือดก็จะไหลเวียนไปได้น้อยทำให้แข็งตัวได้ไม่ดี การที่เส้นเลือดเสื่อมมักเกิดจากการเป็นโรคเรื้อรังที่ทำลายเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะเหล่านี้จะทำให้เส้นเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็งตัวทำให้ขยายไม่ได้ เลือดจึงไปเลี้ยงที่อวัยวะส่วนปลายได้น้อยลง ผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจึงมีโอกาสเกิดอาการอีดีได้สูงมาก

สำหรับการรักษาอาการอีดีที่เกิดจากโรคเบาหวานเรื้อรัง แพทย์จะทำการรักษามีตั้งแต่ใช้วิธีรักษาฟื้นฟูซ่อมแซมหลอดเลือดที่ถูกทำลาย ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์พีดีอี-5 ซึ่งยากลุ่มนี้หากใช้ไปนาน ๆ หรือใช้ในคนไข้ที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดีจะก่อให้เกิดการดื้อยาอย่างเห็น
ได้ชัด ซึ่งทำให้ไม่ได้ผลในการรักษาเท่าที่ควร การใช้ยาฉีดในผู้เป็นเบาหวานเรื้อรังแล้วมีอาการอีดีก็สามารถแก้ไขภาวะนี้ได้ การบริหารกล้ามเนื้อเพศเป็นประจำถือเป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยดังกล่าวเพราะจะทำให้มีเลือดไหลเวียนแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนแก่กล้ามเนื้อเพศให้กล้ามเนื้อเพศแข็งแรงซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีของหัวองคชาตที่ซีดขาวจนเขียว จะมีสีแดงอมชมพูเรื่อ ๆ แสดงถึงมีสุขภาพดีขึ้น

ปัจจุบันมีวิธีการรักษาอาการอีดีระยะยาวในผู้ที่เป็นเบาหวานนั่นคือวิธีช็อกเวฟ วิธีนี้อาศัยการยิงคลื่นความถี่ต่ำไปยังเส้นเลือดที่องคชาตเพื่อกระตุ้นให้มีอาการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่องคชาตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอีดีหลายรายสามารถลดการใช้ยาลงไปได้เยอะ ดังนั้นการรักษาอาการอีดีจากโรคเรื้อรังจำเป็นต้องอาศัยการรักษาหลายแบบร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและฟื้นฟูอาการอีดีให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากในการรักษานั่นก็คือความร่วมมือจากตัวผู้ป่วย ต้องมีความอดทนฝึกบริหารสม่ำเสมอก็จะได้ผลดีแค่ 2-3 สัปดาห์ และอดทนในการเข้ารับการฟื้นฟู.

—————————–
ดร.โอ สุขุมวิท 51